“พลังงาน” ร่วมขับเคลื่อนแผนลงทุนพื้นที่ EEC ผลักดันโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 พร้อมจัดหาพลังงานรองรับความต้องการใช้

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงพลังงาน นำโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมหารือกับ ดร.พรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ถึงความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ ปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และการบริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ EEC เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนไทย และเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตหลังวิกฤติโควิด-19  ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปที่สำคัญ 2 ประการ ดังนี้  

1. ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 ใน EEC ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน นั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการพร้อมสำรวจความพร้อมของนักลงทุน ซึ่งพบว่ามีกลุ่มนักลงทุนหลายกลุ่มให้ความสนใจและมีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC อย่างแน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2564 และจะเกิดการลงทุนในช่วงปี 2568-2570 ซึ่งขณะนี้ทาง EEC ได้ตอบรับบรรจุเป็นแผนการลงทุนและจะเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไป 

2. การบริหารจัดการไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในพื้นที่ EEC กระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพในการตั้งคณะกรรมการร่วมกำหนดนโยบายและรูปแบบการบริหารจัดการพลังงานทดแทนในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นผู้แทนจาก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.) ร่วมดำเนินการหาข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กพช. ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นจะมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในพื้นที่ EEC หรือหากไม่เพียงพอจะหาแนวทางเพื่อจัดหาพลังงานทดแทนรองรับการใช้ของอุตสาหกรรมภายใน EEC ให้เพียงพอและมีความมั่นคง

กระทรวงพลังงาน พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับ EEC ซึ่งนอกจากจะช่วยเศรษฐกิจในพื้นที่แล้ว ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย โดยในส่วนของการผลิตและจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ EEC กระทรวงพลังงานพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายและรูปแบบการดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าพื้นที่ดังกล่าวโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าว

 

 

Visitors: 11,025,071