กรุงไทย “รุกขกรอาสา” ร่วมดูแลสุขภาพต้นไม้ใหญ่ ส่งต่อพื้นที่สีเขียว เพื่อคนในเมือง

จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน กว่า 240 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศ เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมในเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมืองที่เปรียบเสมือน “ปอดของคนกรุงเทพฯ” ได้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง  แม้ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นเด่น แผ่กิ่งก้านขยายอาณาเขตให้ร่มเงา ที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่สุขภาพภายในของต้นไม้เหล่านี้ อาจเสื่อมโทรมอย่างคาดไม่ถึง แม้ที่ผ่านมา จะมีการอนุรักษ์และบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องด้วยไม่มีฐานข้อมูลต้นไม้ใหญ่ ทำให้ไม่สามารถตรวจเช็กสภาพของต้นไม้ได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมทั้งไม่มีข้อมูลการระบุตำแหน่งพิกัด (GPS) ของต้นไม้ใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ “รุกขกร” จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองให้เขียวสมบูรณ์
ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และ ภาคีเครือข่าย จึงร่วมมือกันริเริ่ม โครงการรุกขกรอาสา : นวัตกรรมการจัดการพลเมืองอาสา เพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง โดยธนาคารได้นำพนักงานจิตอาสา VVayu Volunteers และประชาชนทั่วไป ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เอกซเรย์ต้นไม้ เพื่อประเมินสุขภาพพื้นฐานของต้นไม้ ในพื้นที่เขตวัฒนา ระหว่างสุขุมวิทซอย 1-20 รวมระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ด้วยแบบประเมินความเสี่ยง และบันทึกเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลต้นไม้แบบเปิด (Open Data) ที่เรียกว่า “Treeplotter” ซึ่งมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ได้พัฒนาให้กับกทม. เพื่อใช้ในการตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้ พร้อมระบุที่ตั้ง จัดทำระบบแจ้งเตือน ป้องกันปัญหาการโค่นล้ม และกำหนดแนวทางการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ได้รับการบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถนำผลประเมินสุขภาพที่ได้มาใช้ในการฟื้นฟูต้นไม้ ตัดกิ่งก้าน ลดน้ำหนัก จัดทำไม้ค้ำยันประคองลำต้น ช่วยฟื้นคืนชีวิตต้นไม้ทุกต้นให้มีอายุยืนยาว สร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ป้องกันการโค่นล้ม ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนและในชุมชน

ด้วยเจตนารมณ์ของโครงการในการสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วม นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกทม. หากเกิดผลสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ จะสามารถขยายแนวทางการดูแลสุขภาพต้นไม้ใหญ่จากกทม.สู่หัวเมืองใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นการวางรากสร้างมาตรฐานในการดูแลต้นไม้ ภายใต้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นรูปธรรมและนำไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 11 SUSTAINABLE CITIES AND COMMUNITIES  ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

Visitors: 11,290,449