ธอส.เผยยอดสินเชื่อปี 66 ทะลุเป้าที่ 2.5 แสนล้าน ยอดลงทะเบียนแก้หนี้ 4.5 พันล้าน ตั้งเป้าปี 67 โตเพิ่ม 3%

 

 

 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 235,480 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 18,380 ล้านบาท คิดเป็น 7.8% ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/66 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% จากช่วงเดียวกันของปี 65 มีสินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวม 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้และยังเป็นระดับที่บริหารจัดการได้

 

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานณ ปี 2566 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ ทำให้คนไทยมีบ้าน ยังคงสามารถสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลภายใต้การดูแลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัย
เป็นของตนเอง มีคุณภาพชีวิต และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคาร
สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท 197,730 บัญชี สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่   สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 116,817 ราย อยู่ที่ 3.84
% ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% มีสินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอดสินเชื่อรวม
ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้และยังเป็นระดับที่บริหาร
จัดการได้ โดยธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ
NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต และกำไรสุทธิที่ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.21% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%

ขณะเดียวกัน ธอส. ยังเดินหน้าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามความเหมาะสมต่อเนื่องจากปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการคลัง และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” ประกอบด้วย 1. มาตรการภาคครัวเรือน “HD1”
สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ
SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 2. มาตรการภาคครัวเรือน “HD2” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท และ 3. มาตรการภาคครัวเรือน “HD3” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 4 จำนวน 1,000 บาท (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี ทั้งนี้ ได้เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application :
GHB ALL BFRIEND และสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567
ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ณ วันที่ 24 มกราคม 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 3,853บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ ALLBFRIEND

“ปัจจัยที่ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2566 ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร ที่ถือว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ของเป้าหมายในปี 2566 ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว” นายกมลภพ กล่าว

ทั้งนี้ ธอส.ยังพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน (The Best Housing and Sustainable Bank) ในปี 2570 ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาการเชื่อมโยงพันธมิตรด้านที่อยู่อาศัยให้เติบโตร่วมกันอย่างมั่นคง (Best Housing Ecosystem) ผ่านการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลายและสนับสนุนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชน รวมถึงสอดรับกับเมกะเทรนด์ในปี 2567 ทั้งด้านความยั่งยืน (Sustainable)
ด้านนวัตกรรม (Innovation) ด้านสุขภาพ และด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ประกอบด้วย โครงการ Resale Home Ecosystem สร้างมูลค่าเพิ่มจากระบบนิเวศที่อยู่อาศัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่ขายบ้านมือสอง โครงการสินเชื่อ Green Loan จัดทำผลิตภัณฑ์และทำการตลาดสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน อาทิ สินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซื้ออุปกรณ์ฯ เพื่อให้เป็นบ้านประหยัดพลังงาน (ECO House) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรกเพียง 2.80% ต่อปี สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการโครงการสินเชื่อเพื่ออาคารคาร์บอนต่ำ (Project Loan For Carbon Reduction Building)  ที่ต้องการปลูกสร้าง
ต่อเติม ปรับปรุง ซ่อมแซม อพาร์ทเม้นท์ และผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาโครงการเพื่อปลูกสร้างบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรกเพียง
3.90% ต่อปี โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เพื่อดูแลประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น รองรับ Aging Society และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาทิ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Reverse Mortgage : RM) สำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังจากเกษียณอายุ และโครงการสินเชื่อชำระหนี้ค่าไถ่ถอนการขายฝากที่อยู่อาศัย โดยเปิดโอกาสให้กับผู้ที่นำบ้านและที่ดินไปจำนองขายฝากกับเจ้าหนี้นอกระบบ สามารถขอสินเชื่อเพื่อไถ่ถอนจำนองการขายฝากที่อยู่อาศัยกับธนาคารได้ โดยกำหนดวงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายต่อหลักประกัน พร้อมกันนี้ ธอส. ยังเตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าประชาชน กับสินเชื่อบ้าน ธอส. สุขสบาย ปี 2566 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธนาคารไม่พิจารณาประวัติการผ่อนชำระหนี้ หรือสถานะในการทำข้อตกลงประนอมหนี้ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก เท่ากับ MRR-2.00% ต่อปี หรือ 4.90% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.90% ต่อปี) และ 2. ลูกค้าใหม่ (รีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินอื่นมายัง ธอส.) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 3.75% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 4% และโครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล กับสินเชื่อพร้อมใช้ สำหรับลูกค้าปัจจุบันที่ผ่อนชำระเงินงวดและเงินต้นลดลงอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำตามวงเงินต้นที่ลดลง เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร

นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อเป็นองค์กรสู่การมีธรรมาภิบาลที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งในปี 2566 ธนาคารได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 (NACC Integrity Awards) จากสำนักงาน ป.ป.ช. อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานสากล ISO37001:2016 ระบบจัดการการต่อต้านการให้และรับสินบน (Anti-Bribery Management System: ABMS) ซึ่งธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการรับรองระบบการจัดการการต่อต้านการให้และรับสินบนตามมาตรฐานสากล ISO 37001 – Accredited by ANAB แห่งแรกของประเทศไทยขณะเดียวกันยังพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อให้การบริการลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านระบบ GHB Digital Appraisal ยกระดับการให้บริการประเมินราคาทรัพย์ที่ลูกค้าประสงค์จะซื้อและมาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อประมาณการวงเงินอนุมัติเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงการยกระดับการให้บริการลงนามสัญญากู้เงิน โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการลงนามสัญญากู้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ GHB e-Contract แทนการใช้กระดาษ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

   

Visitors: 11,290,525