ชาวอุบลฯ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร โรงไฟฟ้าแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กฟผ. และ บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังและนำเสนอความคิดเห็น ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรเกือบ 400 คน สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการฯ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนและท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิด  การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) และรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร โดยมี นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน มีประชาชนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน รวมถึงผู้บริหาร กฟผ. และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย จำนวน 386 คน ณ ห้องประชุมช้างน้อย เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร มีความจำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยการจัดประชุม  รับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเสนอแนะข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการดำเนินงานของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดอุบลราชธานี และประเทศชาติต่อไป

นายกิตติวัฒน์ ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจาก  การพัฒนาโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดโอกาส  ให้ประชาชนได้เสนอแนะข้อคิดเห็น รวมถึงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ใน การจัดทำรายงาน CoP เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า รวมถึงรายงาน ESA เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ในช่วงเช้าผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประชาชนที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ใน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี คือ ต.นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ต.คำเขื่อนแก้ว และ ต.ช่องเม็ก ส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ช่วงบ่ายเป็นการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญของบริษัทที่ปรึกษา และผู้แทน กฟผ. กับกลุ่มผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวในเขื่อนสิรินธร โดยมีนายสนอง มะลัยขวัญ นายอำเภอสิรินธร เป็นประธาน เพื่อรับฟังข้อห่วงกังวลด้านแพท่องเที่ยวในพื้นที่

ด้าน นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ขอขอบคุณประชาชนทุกภาคส่วนที่ให้ความสนใจมาแสดงความคิดเห็นอย่างเนืองแน่น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นในวันนี้ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาฯ จะรวบรวมทุกข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโครงการ พร้อมร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต45 เมกะวัตต์ เป็นโครงการแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำจากเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System หรือ EMS)   มาควบคุมการผลิตไฟฟ้า จึงสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาค ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาสที่สามารถป้องกันความชื้นเข้าสู่  แผงเซลล์ และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการฯ มีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018)

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้จนถึงวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไปที่ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เลขที่ 53 หมู่ 2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 11130 โทรศัพท์ : 02 436 0817 โทรสาร : 02 436 0890 อีเมล : kamolkarn.k@egat.co.th และบริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 100 ถนนนางลิ้นจี่      แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์ : 02 678 1813 ต่อ 1074 โทรสาร : 02 678 0622 อีเมล :Jutarat.Chunhasri@sgs.com

 

 

Visitors: 11,025,210