กฟผ. นำโซลาร์เซลล์กึ่งใสในนาข้าวพร้อมสุดยอดนวัตกรรม ร่วมโชว์ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 63

กฟผ. นำระบบไอโอทีสำหรับโซลาร์เซลล์กึ่งใสในนาข้าว ต่อยอดการสร้างพลังงานในพื้นที่เกษตร พร้อมสุดยอดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ รวม 4 ผลงาน ร่วมจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ วันที่ 2 – 6 ก.พ. นี้ หวังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม สร้างแรงบันดาลใจและรากฐานที่แข็งแกร่งให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยก้าวสู่เวทีระดับโลก

 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2563 พร้อมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ และรางวัล 2019 TWAS Prize for Young Scientists in Thailandซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ Event Hall 102 - 104ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โอกาสนี้ ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้แทน กฟผ. พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย นักประดิษฐ์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงสื่อมวลชน ร่วมในพิธี

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์   สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่สังคมและประเทศชาติ กฟผ. จึงให้ความสำคัญ สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ กฟผ. ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากผลงาน “ระบบสั่งการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นผลงานของนายรัฐวิชญ์ พุฒิพัฒนาศักดิ์ และคณะ จากฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน ซึ่งผลงานนวัตกรรมนี้สามารถประมวลผลและสั่งการโรงไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งกำลังไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ กฟผ. ได้นำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ ทั้ง ในระดับประเทศและนานาชาติ ร่วมจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ จุดประกายให้กับ ผู้เข้าชมงานได้เห็นถึงความสำคัญของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศจำนวนทั้งสิ้น  4ผลงาน ประกอบด้วย

1) ระบบไอโอทีสำหรับการนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้กับเกษตรกรรมการปลูกพืช จากฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของ กฟผ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สร้างต้นแบบสถานีโซล่าร์เซลล์ชนิดกึ่งใสพร้อมระบบไอโอทีควบคุมด้วยอินเตอร์เน็ตทดลองปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำพลังงานที่ผลิตได้ในพื้นที่การเกษตรมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่ระบบฟาร์มอัจฉริยะ  

2) ชุดเครื่องมือเปลี่ยนลูกถ้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแบบสายคู่โดยไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้าจากฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ ทำให้ขณะเปลี่ยนลูกถ้วยสามารถส่งกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ

 3) สิ่งประดิษฐ์ “การประเมินอายุการใช้งานที่เหลือของหม้อแปลงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” จากฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า โดยวิเคราะห์ความแข็งแรงจากฉนวน ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้า และ

 4) อุปกรณ์ชดเชยค่ากำลังไฟฟ้ารีแอกทีฟขณะสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ จากฝ่ายการผลิต  เหมืองแม่เมาะ ซึ่งนำมาใช้กับระบบระบายน้ำของเหมืองแม่เมาะ จากปกติต้องใช้กำลังไฟในการสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้า 5 - 7 เท่า ลดเหลือไม่เกิน 1.5 เท่า ซึ่งทั้ง 4 ผลงาน ยังได้รับรางวัลจากเวทีระดับนานาชาติอื่น ๆ อาทิ งาน   The International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products (iENA 2019) ณ ประเทศเยอรมนี และรางวัลพิเศษจากประเทศโปแลนด์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน

 

ทั้งนี้ กฟผ. ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในงานวันนักประดิษฐ์ ระหว่างวันที่  2 – 6 กุมภาพันธ์ นี้ ณ Event Hall 102 - 104ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ 

Visitors: 11,025,255