กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัด Workshop ทดสอบการนำเข้า LNG แบบ Spot เตรียมความพร้อมนำเข้าล็อตแรก ธันวาคม นี้

กฟผ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด จัด Workshop ทดสอบการนำเข้า LNG แบบ Spot ของ กฟผ. ในรูปแบบ Tabletop เตรียมความพร้อมก่อนนำเข้าจริงเดือนธันวาคม นี้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ทดสอบการนำเข้า LNG แบบตลาดจร (Spot) ของ กฟผ. ในรูปแบบ Tabletop เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและคลังกักเก็บก๊าซธรรมชาติ โดยมีนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เป็นประธาน พร้อมด้วยนายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการ   เชื้อเพลิง กฟผ. นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. นายสหเทพ ธรรมทัต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ นายเชิดชัย บุญชูช่วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายประทีป จิตรประทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการ บริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด และคณะทำงานจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พร้อมพนักงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วม Workshop ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 15 อาคาร ท.103 สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สกพ. กล่าวว่า การประชุม Workshop ทดสอบการนำเข้าLNG แบบ Spot ของ กฟผ. ในรูปแบบ Tabletop ในครั้งนี้ดำเนินการตามความประสงค์ของกระทรวงพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและคลังกักเก็บก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้วางแผนวิธีการจัดการการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ออกเป็น 2 ช่วง โดยนำเข้าครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการ LNG ในตลาดโลกสูง และครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการ LNG ในตลาดโลกต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ สนพ. ใช้ประกอบการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และก่อให้เกิดผลกระทบกับค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสรุปผลการทดสอบจากการประชุม Workshop ในครั้งนี้ เพื่อรายงาน กบง. ต่อไป

 

ด้าน นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกหน่วยงานมีความรู้และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ในขั้นตอนการจัดหา LNG แบบ Spot เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการนำเข้า LNG จริง ในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งยังช่วยทดสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA Code) และส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า LNG  (LNG HUB)

Visitors: 11,025,170