คปภ. สร้างเกราะลดเสี่ยงให้ธุรกิจ SME ด้วยระบบประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) มีความมุ่งมั่นในการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยในเชิงรุก เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อม หรือ ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ความคุ้มครอง ตลอดจนข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบุคคลหรือธุรกิจของตนเอง ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้จัดเวทีสัมมนาภายใต้หัวข้อ ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ตลอดจนตัวแทน นายหน้าประกันภัยและอาสาสมัครประกันภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เมืองกรุงเก่า) และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME” โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัย อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ บริหารความเสี่ยง รวมทั้ง ส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยผ่านผลิตภัณฑ์ไมโครอินชัวรันส์สำหรับการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การประกันภัยลำไย การประกันภัยโคนม การประกันภัยประมง
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ออกกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และวิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือที่เรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Package ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองไว้อย่างครอบคลุมกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีความคุ้มครองหลักสำหรับการประกันภัยเงินทดแทนการสูญเสียรายได้ การประกันโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกัน การประกันภัยสำหรับกระจก การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นต้น


เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เกี่ยวกับการให้บริการท่องเที่ยว ดังนั้น นายทะเบียนจึงได้ให้ความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัย และสำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 34 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน 2561 กล่าวคือ กฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทุกรายต้องจัดให้มีประกันภัยสำหรับอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยมีเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อคน และกรณีบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อคน และหากผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวไม่จัดให้มีประกันตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว


นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2558 มาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องจัดให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พัก ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก เรื่องหลักเกณฑ์การจัดให้มีการประกันภัย เพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พัก ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 โดยมีความคุ้มครองการเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และค่ารักษาพยาบาลของผู้พักอันเป็นผลมาจากหอพักเกิดไฟไหม้หรือระเบิด หรือผู้พักถูกฆาตกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในหอพัก รวมทั้ง คุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัวของผู้พักอันเป็นผลมาจากสถานที่ประกันภัยเกิดไฟไหม้ และหากผู้ประกอบกิจการหอพักผู้ใดไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
สำนักงาน คปภ. มีหน้าที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยทุกกลุ่ม ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ SME ว่าจะจัดการบริหารความเสี่ยงนั้นอย่างไร และหากภาคธุรกิจใดประสงค์จะให้สำนักงาน คปภ. ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือขนาดใหญ่ ก็สามารถให้ข้อแนะนำต่อสำนักงาน คปภ.ได้ หรือหากภาคธุรกิจใดจัดทำประกันภัยไว้แล้ว และไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย สามารถเข้าร้องเรียนได้ โดยสำนักงาน คปภ. มีกระบวนการ ระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยความเป็นธรรม เช่น กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย โดยผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นบุคคลภายนอก ที่มีความรู้ ความสามารถในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมถึง การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคด้านประกันภัยในการใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่มีความรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ SME มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประกันภัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สายด่วน 1168” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Visitors: 11,025,093