เลขาธิการ คปภ. ผนึกพลังเครือข่ายฯ ปฏิบัติตามกฎจราจร ป้องกัน-ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ช่วง 7 วันอันตรายส่งท้ายปี 2561

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ของทุกๆปี มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว รวมทั้ง มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองรื่นเริงต่างๆ ควบคู่ไปกับการใช้รถใช้ถนนเพื่อการสัญจร จึงอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงเวลาปกติ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งท้ายปี 2561 ต้อนรับปี 2562 อย่างมีความสุขและอบอุ่นใจ โดยเฉพาะช่วงเข้มข้น 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2561 - 2 มกราคม 2562 สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยได้ผนึกกำลังกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ร่วมด้วยมูลนิธิเมาไม่ขับ จัดโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาล ปีใหม่ประจำปี 2562 และอบรมเครือข่ายอาสาสมัครประกันภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์สร้างกระแสให้เกิดการรับรู้ กระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและสามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยมากยิ่งขึ้น

สำหรับรูปแบบการจัดโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เปลี่ยนสถานที่จัดงานซึ่งครั้งก่อนๆจัดที่สำนักงาน คปภ. มาเป็นที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เนื่องจากในปีนี้ได้มีเครือข่ายอาสาสมัครประกันภัย ซึ่งเป็นสมาชิกสมาพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค จาก 50 เขต ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 200 คน มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิบัติตามกฎจราจร ช่วยรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน มั่นใจด้วยประกันภัยรวมทั้งเปิดเวทีเสวนาวิชาการเพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยกับอาสาสมัครประกันภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไป โดยมีหัวข้อบรรยายที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2559 หัวข้อ “การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์และบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถโดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทุกมิติของการปฏิบัติงาน  

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมมอบหมวกนิรภัยให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้สวมใส่ทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านประกันภัยผ่านบูธนิทรรศการด้านความปลอดภัยทางถนนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และการให้ความรู้ด้านประกันภัยผ่านสารคดีสั้นและคลิปวิดีโอสั้น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ สำนักงาน คปภ. ได้เปิดศูนย์บริการสายด่วน คปภ. 1186 อย่างครบวงจร เพื่อให้บริการ Hotline 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งให้มีการรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Platform ทั้งในส่วนของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และ สำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยขั้นตอนการรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์นั้น บริษัทประกันภัยมีหน้าที่จะต้องรายงานข้อมูลผ่านระบบภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่ที่ได้รับแจ้งผลจากการจัดทำ Platform เพื่อที่ สำนักงาน คปภ. จะได้สามารถกำกับติดตามให้บริษัทประกันภัยรายงานกรณีเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่และติดตามเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ และผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ภูมิภาค ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการ สำนักงาน คปภ. ภาค ทุกภาคและสำนักงาน คปภ. จังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานศูนย์ประจำจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อรณรงค์การขับขี่ปลอดภัยทางถนนในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการด้านประกันภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เนื่องในโอกาสส่งท้ายปี 2561 และต้อนรับปี 2562 สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยส่งมอบความสุขและสร้างความอบอุ่นใจในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ด้วยของขวัญพิเศษสุดๆ ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยที่มีราคาถูกที่สุดในโลก แต่ให้ความคุ้มครองแบบคุณภาพ คือ กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 7 บาท (ไมโครอินชัวรันส์) หรือ (กรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท) และกรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่อุ่นใจด้วยประกันภัย 10 บาทพลัส (ไมโครอินชัวรันส์) หรือ (กรมธรรม์ประกันภัย 10 บาทพลัส) โดยสำนักงาน คปภ. ได้เปิดตัวกรมธรรม์ทั้ง 2 แบบอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท จะให้ความคุ้มครองเหมือนกับประกันภัย 10 บาท ที่เปิดตัวไปแล้วในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ มือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะมือ เท้า สูญเสียสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุ

 

ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวน 5,000 บาท ส่วนกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาทพลัส นอกจากจะให้ความคุ้มครองเหมือนกับกรมธรรม์ประกันภัย 7 บาทแล้ว ยังเพิ่มเติมความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุจ่ายตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากประกันภัย 7 บาท และประกันภัย 10 บาทพลัส เป็นกรมธรรม์แบบกลุ่ม จึงกำหนดเงื่อนไขผู้ที่สามารถซื้อได้ คือ ผู้ประกอบการซื้อเพื่อมอบความคุ้มครองแก่พนักงาน ลูกจ้าง ลูกค้า หรือถ้าเป็นบุคคลทั่วไปสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มก็สามารถซื้อได้เช่นกัน  สำหรับบุคคลทั่วไปรายเดียวสามารถซื้อได้ที่ธนาคารออมสินและเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ  โดยเริ่มจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20-70 ปีบริบูรณ์ สำหรับระยะเวลาการคุ้มครองจำนวน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำประกันภัย และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186      

Visitors: 11,025,235