กฟผ. - จังหวัดตราด นำร่องพัฒนาหญ้าทะเลเทียม มุ่งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน

กฟผ. ร่วมกับ จังหวัดตราด และหน่วยงานภาคี ขับเคลื่อนโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบ หญ้าทะเลเทียมร่วมกับปราชญ์ชุมชน ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ องค์การบริหาร    ส่วนตำบลไม้รูด (อบต.ไม้รูด) จังหวัดตราด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จัดพิธีเปิด “โครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบหญ้าเทียมร่วมกับปราชญ์ชุมชน กรณีศึกษาพื้นที่อนุรักษ์ชายฝั่งทะเล ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด” เพื่อศึกษาศักยภาพการสร้างแนว   หญ้าทะเลเทียมจากซั้งเชือกในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรทางทะเล ณ องค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด

               นายธีระชัย ลิ้มประสิทธิศักดิ์ ปลัดจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราด เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยโครงการศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบหญ้าทะเลเทียมร่วมกับปราชญ์ชุมชน สำรวจพบว่า ประมงชายฝั่งบริเวณพื้นที่ ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ พบปัญหาเรื่องจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างมาก มีสาเหตุจากการขาดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล หากสามารถสร้าง         แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ ก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลได้

               นายนรินทร์ เผ่าวณิชผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการปลูกป่า กฟผ. โครงการปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า โครงการปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ สำหรับในพื้นที่จังหวัดตราดในครั้งนี้ กฟผ. ได้ร่วมกับ อบต.ไม้รูด จังหวัดตราด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบหญ้าทะเลเทียมร่วมกับปราชญ์ชุมชน กรณีศึกษาพื้นที่อนุรักษ์ชายฝั่ง ตำบลไม้รูด โดยเล็งเห็นว่า หญ้าทะเลเทียมจาก        ซั้งเชือก จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรทางทะเล เพราะจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ โดยภายในงานจะมีการปล่อยเรือที่จะนำซั้งเชือกไปวางแนวหญ้าทะเลเทียม ในจุดที่ทำการศึกษาวิจัย เพื่อเริ่มต้นการเก็บข้อมูลในการศึกษาวิจัยโครงการ ซึ่งจะดำเนินการเป็นระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจึงจะนำผลการศึกษาวิเคราะห์ขยายผลไปในพื้นที่อื่นอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง กฟผ. กับชุมชน ตลอดจนปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

Visitors: 11,025,110