“กกพ.” ยกอุทธรณ์ “จีพีเอสซี” ควบรวม “โกลว์”

“กกพ.” มีมติยกอุทธรณ์ “จีพีเอสซี” ภายหลังใช้สิทธิอุทธรณ์ขอให้ทบทวนคำสั่งไม่เห็นชอบให้รวมกิจการกับ “โกลว์” พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ยืนคำชี้ขาด “ลดการแข่งขัน” 

               นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กกพ. ได้มีมติไม่เห็นชอบให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ “จีพีเอสซี” ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กระทำการรวมกิจการกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ “โกลว์”  ผู้รับใบอนุญาตอีกราย เนื่องจากเป็นการลดการแข่งขันตามนัยของมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และข้อ 8 ของระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการอันก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน พ.ศ. 2552  ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 จีพีเอสซี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กกพ. ที่มีมติไม่เห็นชอบ ซึ่งเมื่อวันที่           21 พฤศจิกายน 2561 ได้มีมติให้สำนักงาน กกพ. เสนอเรื่องอุทธรณ์ จีพีเอสซี เข้าสู่การพิจารณาของ คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของ กกพ. 

“เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา กกพ. มีมติให้ยกอุทธรณ์ของ จีพีเอสซี  ที่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง กกพ. ที่ไม่เห็นชอบให้รวมกิจการกับ โกลว์ โดย กกพ. วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า แม้ในธุรกิจของการจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะมีผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในพื้นที่ที่มีการอุทธรณ์มีผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 2 รายในพื้นที่ การที่มีการรวมกิจการจนทำให้เหลือผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว โดยสภาพจึงเป็นการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การไม่เห็นชอบให้กระทำการรวมกิจการตามที่ยื่นขออนุญาต เนื่องจากเป็นการลดการแข่งขันจึงเป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว”

               โดย กกพ. ได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามที่ จีพีเอสซี โต้แย้งคำสั่ง กกพ. แล้ว เห็นว่า การที่ กกพ. ไม่เห็นชอบให้กระทำการรวมกิจการตามที่ยื่นขออนุญาตเนื่องจากเป็นการลดการแข่งขัน จึงเป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของ จีพีเอสซี ในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ได้ยื่นอุทธรณ์มาจึงฟังไม่ขึ้น แม้ในปัจจุบันอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ในระยะยาวการที่ยังคงมีการแข่งขันในพื้นที่ย่อมดีกว่ามีผู้ประกอบกิจการเพียงรายเดียว กกพ. จึงควรส่งเสริมให้ยังคงมีการแข่งขันอยู่ต่อไป เพราะโดยพื้นฐานของธุรกิจลักษณะนี้ ผลประโยชน์สุดท้ายจะตกแก่ผู้รับบริการในพื้นที่

 สำหรับขั้นตอนต่อไป ทางสำนักงาน กกพ. จะแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ จีพีเอสซี รับทราบต่อไป นางสาวนฤภัทรฯ กล่าว

Visitors: 11,025,178