สมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดงาน TGIA HealthTech Forum 2018 เปิดโอกาส Startup รุ่นใหม่โชว์เทคโนโลยีพัฒนาการประกันสุขภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล

นายปิติพงศ์ พิศาลบุตร ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาท และเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่เรียกว่า Startup ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันธุรกิจ Startup ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกันภัย ประกอบด้วยกลุ่ม Insurtech และ HealthTech เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดย คณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจประกันภัยกับ Startup ในกลุ่มของ HealthTechเพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจประกันสุขภาพในอนาคต จึงได้ร่วมกับ สมาคมเฮลท์เทคไทย จัดงาน TGIA HealthTech Forum 2018 ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ HealthTech ได้มานำเสนองานและแนะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มาช่วยในการดำเนินธุรกิจประกันภัย เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจประกันภัยเพื่อลดค่าใช้จ่าย การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพผ่าน Application บน Smartphone การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพเชิงลึกโดยการใช้เทคโนโลยี BlockChain และการค้นหาและนัดหมายแพทย์ผ่าน Application เป็นต้น พร้อมพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ HealthTech ที่เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 10 ราย ได้แก่ Application Chiiwii, Ooca, Block md, Medisee, Zeek doc, Arincare, Diamate, Pharmasafe, Health smile, Vitaboost

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ HealthTech ดังกล่าวจะได้ร่วมการบรรยาย และแนะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจประกันภัย แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้

1.     Telemedicine หรือการให้คำปรึกษาของแพทย์ผ่านแอปพลิเคชั่น

2.     Blockchain and Health analytic การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพเชิงลึกโดยใช้เทคโนโลยี

3.     Customer engagement หรือการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดี 

4.     การลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจประกันภัย ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาไม่สมเหตุผล แพ็กเกจการ ตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง และการดูแลด้านสารอาหารเฉพาะบุคคล

การสัมมนาในครั้งนี้ สมาคมฯ ได้เรียนเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน คปภ. อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันวินาศภัย เข้าร่วมงาน และได้รับเกียรติจาก ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ให้เกียรติเป็นประธานฯ กล่าวเปิดงาน ณ Conference Hall, GlowFish (Sathorn) ชั้น 2 อาคารสาทรธานี 2 ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ

นายปิติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเติบโตของการประกันภัยสุขภาพในช่วง 9 เดือนแรกของปี ตั้งแต่ มกราคม - กันยายน 2561 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 7,709.458 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 10.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนกรมธรรม์ 866,706 ฉบับ เบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์อยู่ที่ 8,900 บาท ลดลงจากปีที่แล้วที่มีเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์อยู่ที่ 12,020 บาท คิดเป็นร้อยละ 25.96 โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1) บมจ.เอ็ทน่า ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) 2) บมจ.ซิกน่า ประกันภัย 3) บมจ.กรุงเทพประกันภัย 4) บมจ.เมืองไทยประกันภัย และ 5) บมจ.ทิพยประกันภัย ตามลำดับ

Visitors: 11,025,228