กสอ. จับมือจังหวัดนางาโนะ เชื่อม 3 อุตฯ ไทย-ญี่ปุ่น ถ่ายทอดเทคนิคการผลิตแผงวงจรขนาดเล็กสู่ผปก.ไทย

  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ SMRJ และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดนางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ลงนามความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2. อุตสาหกรรมเครื่องจักร และ 3. อุตสาหกรรมอุปกรณ์การสื่อสาร โดยมีกรอบความร่วมมือ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจ การส่งเสริมความเชื่อมโยงในสาขาอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ นอกจากนี้ กสอ.ยังจะศึกษาเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูง เช่น ชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟน กล้องถ่ายรูป รวมถึงแผงวงจรที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ มาเผยแพร่และพัฒนาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเน้นเทคนิคในการทำให้มีความอัจฉริยะและขนาดที่เล็กลง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดทั่วโลกที่กำลังแข่งขันกันในระดับสูง

นายสมชาย  หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ “SMRJ” (Organization for SME and Regional Innovation of Japan ) ในการเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม T-GoodTech ของไทย กับ J-GoodTech ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่องทางการจับคู่ธุรกิจ (Business to Business) ของผู้ประกอบการ SMEs ไทยกับผู้ประกอบการญี่ปุ่น โดยในครั้งนี้ได้ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดนางาโนะ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของทั้ง 2 ประเทศ ให้ได้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทรัพยากร การร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในจังหวัดนางาโนะและประเทศไทยมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นในการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การสื่อสาร ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 ได้เป็นอย่างดี

                นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อ 1.เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ของไทยให้มีการประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับญี่ปุ่น 2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจโดยเฉพาะด้านเทคนิค การตลาด การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม  และ 3.การส่งเสริมความเชื่อมโยงในสาขาอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ตามหลักแนวคิด Otagai Business ที่มุ่งสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงศึกษา ศักยภาพทางอุตสาหกรรมของจังหวัดนางาโนะที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง หรือการผลิตแบบโมโนซุคุริ (Mono ZuKuri)  โดยเฉพาะในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งกสอ.จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดและพัฒนาให้กับ SMEs ในกลุ่มดังกล่าวของไทย รวมถึงนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ ITC ที่จัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ

                นอกจากนี้ สาระสำคัญในการดำเนินความร่วมมือกับจังหวัดนางาโนะในครั้งนี้ ยังมุ่งที่จะศึกษาเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูง เช่น ชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟน เครื่องปริ๊นเตอร์ กล้องถ่ายรูป รวมถึงแผงวงจรที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ซึ่งจังหวัดนางาโนะถือเป็นเมืองชั้นนำในการคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพในด้านความละเอียด ความแม่นยำ และการควบคุมการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนนี้จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนหรือแผงวงจรอิล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเทคนิคในการทำให้มีความอัจฉริยะและขนาดที่เล็กลง ซึ่งตลาดทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและแข่งขันกันในระดับที่สูงมาก

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีบริษัทจากจังหวัด นางาโนะ ที่ลงทุนในประเทศไทย จำนวน 113 บริษัท จากจำนวนทั้งสิ้น 1,150 บริษัทที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จังหวัดดังกล่าวนอกจากจะมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งจากข้อมูลปี 2557 พบว่า ยอดมูลค่ารวมผลิตภัณฑ์ของจังหวัดนางาโนะภายในประเทศสูงถึง 5.45 ล้านล้านเยน ถือเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านอุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงกล้องถ่ายรูป นาฬิกา และกล่องดนตรี ที่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของจังหวัดและหลายรายการก็ถือครองสัดส่วนการตลาดในประเทศเป็นอันดับ 1 อีกด้วย

นอกจากนี้ การลงนามความร่วมมือระหว่าง กสอ. และจังหวัดนางาโนะในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 18  ของความร่วมมือในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือกับ กสอ. ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุก ๆ ด้าน ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ สำหรับก้าวต่อ ๆ ไปในอนาคตระหว่างภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดนางาโนะ และประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างประโยชน์ในลักษณะ Win – Win ให้กับภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดนางาโนะ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายชูอิชิ อะเบะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนางาโนะ เป็นผู้ลงนาม ณ ซุวะเลคฮอลล์ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมของฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

 

สำหรับผู้ประกอบการ  ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4501,0 2202 4495 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

Visitors: 11,025,064