คปภ. นำภาคอุตสาหกรรมประกันภัยขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา

เตรียมอนุมัติแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปีการผลิต 2561/62 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 อนุมัติให้ดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และอนุมัติกรอบวงเงินตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลของปริมาณการผลิตการตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งเกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน จากกิจกรรมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูนาปรัง และเพื่อให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตสินค้า ลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ โดยใช้การประกันภัยเป็นหนึ่งในมาตรการจูงใจเกษตรกร มีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานที่มีความเหมาะสม รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด นั้น

เพื่อสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐตามมติของ ครม.ดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปีการผลิต 2561/62 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) โดยข้อสรุปในเบื้องต้น จะให้ความคุ้มครองตามแนวทางเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี สำหรับค่าสินไหมทดแทนกำหนดไว้ 1,500 บาทต่อไร่ สำหรับความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ ยกเว้นความเสียหายจากศัตรูพืชและโรคระบาด ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 750 บาทต่อไร่ โดยเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 59 บาท (ไม่รวมอาการแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งรวมแล้วจำนวน 65 บาทต่อไร่ และขณะนี้มีบริษัทประกันภัยพร้อมเข้าร่วมโครงการ 11 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด(มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซุย  สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน)

อนึ่ง เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติ ยังขาดความชัดเจนของการประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการประกันภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัย จำนวนของพื้นที่การเพาะปลูก ประเภทของภัยที่จะคุ้มครอง อัตราเบี้ยประกันภัย วงเงินความคุ้มครอง และความซ้ำซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น จึงให้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบพิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อนและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งคณะกรรมการ นบขพ. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณา ในวันที่ 8 ตุลาคม 2561นี้    และทางสำนักงาน คปภ. รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทยจะร่วมประชุมชี้แจงด้วย

 

“สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพเกษตรกรในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ แมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ไม่คงที่แน่นอน และบางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้ โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร ดังนั้น หลังจากที่โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (นบขพ.)และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว สำนักงาน คปภ.จะเร่งขับเคลื่อนโครงการนี้ทันที โดยจะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งให้ระบบประกันภัยมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และพร้อมจัดทำสื่อความรู้โดยเฉพาะในรูปแบบApplication เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายและทั่วถึงต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Visitors: 11,025,262