SEA แจงความคืบหน้าการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ยันบรรลุความร่วมมือ กกพ. สนับสนุนงบศึกษาวงเงิน 50 ล้านบาท พร้อมเตรียมเปิดรับผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯ ภายใน 3 สัปดาห์ มั่นใจเกณฑ์พิจารณาเข้มข้นและห

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า  กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเร่งบริหารจัดการความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คู่ขนานไปกับการลดความขัดแย้งในพื้นที่  ซึ่งในวันนี้ (7ก.ย.) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA)  เป็นครั้งที่ 5 โดยคณะกรรมการฯ จะขอแจ้งความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การบรรลุแนวทางการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งจะสนับสนุนงบประมาณเพื่อว่าจ้างศึกษาโครงการฯวงเงิน 50 ล้านบาท

                              ทั้งนี้ รายละเอียดในการของบสนับสนุนจากสำนักงาน กกพ. ดังกล่าว เบื้องต้น สำนักงานกกพ.และกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ร่วมกัน โดยจะสนับสนุนให้เกิดการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายการพัฒนาและจัดหาพลังงานในภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากประชาชน และสนับสนุนให้กระทรวงพลังานสามารถปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ได้อย่างมีรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคสังคมและประชาชนมีความรู้ และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

                              โดยขณะนี้ ได้มีการออกประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง การเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญ จะมีกรอบวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับการจัดสรร เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหากำไร (รายละเอียดประกาศ ข้อกำหนด TOR แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการฯ ที่ www.energy.go.th)  โดยกระทรวงพลังงานจะเปิดชี้แจง TOR และตอบข้อสงสัยสำหรับผู้สนใจในวันที่ 14 กันยายน 2561 และกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯ มายังกระทรวงพลังงาน ภายใน 3 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2561 ถึง 5 ตุลาคม 2561) ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้จะสามารถพิจารณาผู้ได้รับการคัดเลือกมาศึกษาโครงการฯ และหากดำเนินการได้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้คาดว่าจะได้ผลการศึกษาทั้งหมดภายในเวลา 9 เดือน 

                              นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วมฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอโครงการที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเพื่อนำไปสู่จุดเริ่มต้นการคลี่คลายสถานการณ์ที่มีข้อขัดแย้งต่อพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ของประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างรอบคอบ ยึดหลักดำเนินการด้วยความเป็นกลาง ตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ และจะวางกรอบการดำเนินงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ระยะยาว โดยยึดหลักให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ 

Visitors: 11,025,204