กนอ. จับมือ ซี จี คอร์เปอเรชั่น ผุดนิคมฯ ซีพีจีซี ระยอง พื้นที่กว่า 3 พันไร่

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ระยอง บนพื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ ด้วยเม็ดเงิน ลงทุนประมาณ 5,600 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักลงทุนที่สื่อสารโดยใช้ภาษาจีน ซึ่งคาดว่าโครงการน่าจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูงเนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของอีอีซี ประกอบกับบริษัทมีฐานลูกค้าผู้ประกอบการที่สื่อสารด้วยภาษาจีนในปริมาณสูง จึงคาดว่าโครงการดังกล่าวจะขาย /ให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบอุตสาหกรรมได้หมดภายในระยะเวลา 6 ปี พร้อมก่อให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และการจ้างงานไม่น้อยกว่า 20,000 อัตรา

            นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา) เปิดเผยว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด กนอ.จึงได้ร่วมกับบริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่นจำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซีในจังหวัดระยอง เพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายอีอีซี โดยได้เลือกพื้นที่ในตำบลมาบข่า และตำบลมาบข่าพัฒนาในอำเภอนิคมพัฒนา และตำบลหนองระลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รวมเนื้อที่ประมาณ 3,068 ไร่ ใช้รูปแบบการร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ  5,600 ล้านบาท

สำหรับทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการแบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 2,205 ไร่ เขตพาณิชยกรรม  112 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 443 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 307 ไร่ สามารถเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมต่อกับนิคมฯ ในกลุ่มพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ อาทิ นิคมฯ Smart Park นิคมฯ อาร์ ไอ แอล นิคมฯ เอเชีย ระยอง  นิคมฯ เหมราชตะวันออก นิคมฯ ผาแดง และ นิคมฯ มาบตาพุด เป็นต้น ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในพื้นที่เช่น ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด  ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ฯลฯ ซึ่งจะเอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้าในระบบต่างๆได้เป็นอย่างดี

นางสุวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี สามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ ครบวงจร อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก นอกจากนี้ การจัดตั้งโครงการยังมุ่งเน้นรองรับนักลงทุนที่สื่อสารด้วยภาษาจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ซึ่งคาดว่าโครงการน่าจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูงเนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของอีอีซี โดยตั้งเป้าหมายขายพื้นที่ได้หมดภายในระยะเวลา 6 ปี  พร้อมก่อให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และการจ้างงานไม่น้อยกว่า 20,000 อัตรา

อย่างไรก็ดี โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จะเป็นนิคมฯ อีกหนึ่งแห่งที่นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ   (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ พร้อมจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco Belt) รอบโครงการ และจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 พร้อมทั้งมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านการควบคุมมลพิษ ทั้งมลพิษทางอากาศ  มลพิษทางเสียง และ  กากของเสีย ด้วยระบบที่ทันสมัยเพื่อลดปัญหาการร้องเรียน และส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

          ด้าน นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผนวกกับศักยภาพด้านการตลาดทำเลที่ตั้ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญเอื้อต่อการลงทุนพร้อมรองรับนักลงทุนทั้งไทยและชาวต่างชาติ เราจึงมุ่งมั่นตั้งใจในการก้าวไปสู่การเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ยังมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่สื่อสารโดยใช้ภาษาจีน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและให้คนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ ความสามารถเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็น ไทยแลนด์ 4.0 และสามารถเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนด้วยแนวคิด High Technology ที่ส่งต่อถึงคนรุ่นหลังเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นกับดักของคำว่า ประเทศกำลังพัฒนา” 

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 02 2530561 หรืออีเมล investment.1@ieat.mail.go.th

Visitors: 11,025,004