ทิพยประกันภัย พาครูอาจารย์ตามรอยพระราชา เรียนรู้ “ระเบิดจากข้างใน” หนึ่งในหลักการทรงงานในหลวง ร.9 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา จัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 36” นำครู-อาจารย์ และผู้ที่สนใจ ไปศึกษาเรียนรู้หลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ณ โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด จังหวัดอุทัยธานี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ทิพยประกันภัย จัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” เป็นประจำทุกเดือนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นการนำครู-อาจารย์ และผู้ที่สนใจ เดินทางไปยัง 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิต เพื่อศึกษา และตามรอยศาสตร์ของพระราชา ในส่วนของการจัดโครงการครั้งที่ 36 นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี 2567 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราได้มาตามรอยเรียนรู้ “การระเบิดจากข้างใน” ซึ่งเป็น 1 ใน 23 หลักการทรงงาน ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรและเป็นหลักการที่พระองค์ทรงยึดถือมาตลอดในเรื่องการพัฒนาคน ว่าต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็ง และความพร้อมที่เกิดขึ้นจากภายในบุคคล หรือชุมชนเสียก่อน ซึ่งหลักการนี้เอง ที่เป็นที่มาของความสำเร็จในโครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด ที่เราได้มาตามรอยเรียนรู้กันในครั้งนี้ โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูดแห่งนี้ จะเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต การทำงาน รวมถึงการพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ ให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี”

ตำบลแก่นมะกรูด ตั้งอยู่ในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาการรุกพื้นที่ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ตัดสินใจน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรเข้ามาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยแนวพระราชดำริอันเป็นหลักการทำงานสำคัญในการแก้ปัญหานี้คือ "การระเบิดจากข้างใน" หมายถึง การมุ่งแก้ปัญหาโดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม ทั้งในการศึกษาเรียนรู้ปัญหา คิด และลงมือทำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นจากภายในชุมชน ก่อนที่จะยกระดับสู่การพัฒนาในขั้นที่สูงขึ้นด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้ ต.แก่นมะกรูดในวันนี้ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปเยือนด้วยฉายา “หนาวสุดกลางสยาม” ที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นทางเลือกมากขึ้น มีไม้ผลที่ให้ทั้งผลผลิตเพื่อจำหน่าย  เกษตรกรโดยรวมมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และยังมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ช่วยในการทำโฮมสเตย์เสริมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ คณะผู้ร่วมกิจกรรมยังได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ของทางโครงการฯ เช่น กิจกรรมทำขนม “ทองโย๊ะ” ของดีชาวกะเหรี่ยง, การทำผ้าทอเผ่ากะเหรี่ยง หรือ “กี่เอว” ที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง, การทำ “เป๊อะแม้ว” และการฝึกทำตะกร้าสะพายหลังชาวเขา ซึ่งการร่วมกิจกรรมข้างต้น จะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ เข้าใจ และซึมซับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงได้มีส่วนร่วมในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้น “การระเบิดจากข้างใน” อีกด้วย

ในโครงการยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ Workshop9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู และ Workshop The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์อดุลย์   ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทยและการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030

 

 

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสา และการกุศล ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ร่วมทำ เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้เกิดจิตสาธารณะ เสียสละเพื่อส่วนรวมอีกด้วย เช่น กิจกรรมตักบาตรทางน้ำ เรียนรู้วิถีริมน้ำสะแกกรัง ที่ตลาดเช้าชุมชนริมแม่น้ำสะแกกรัง พร้อมร่วมกันปล่อยปลา ปล่อยปลา เบญจพรรณน้ำหนักรวม 100 กิโลกรัม และกิจกรรมมอบหนังสือจากโครงการ “อ่านพลิกชีวิต” ของอมรินทร์กรุ๊ป และกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับโรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ จังหวัดอุทัยธานี

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งที่ 37 ทางโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ขอเชิญชวนครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จังหวัดลำปาง ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้

 

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี  พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์  099 397 5333  FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey  LINE :  The King’s Journey

Visitors: 11,290,390