ดีอีเอส ร่วม สตช. ผนึกกำลัง 20 กระทรวง รัฐวิสาหกิจ - เอกชน - สื่อมวลชน รณรงค์ “ร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง

 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ หน่วยงานราชการทั้ง 20 กระทรวง พร้อมด้วย รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เปิดรณรงค์ “ร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” สร้างการรับรู้ร่วมกัน  เตรียมเปิดระดมจัดหนักกวาดล้างจับกุมซิมม้า บัญชีม้า และขยายครูไซเบอร์ พร้อมเชิญชวนประชาชน ทำข้อสอบวัคซีนไซเบอร์ และบอกต่อ เพื่อหวังคนไทยได้รับวัคซีนทั่วถึง สร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ  ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พลเอก ธิติชัย  เทียนทอง   เสนาธิการทหาร พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย เครือข่ายภาคเอกชนทั้งบริษัทน้ำมัน  ห้างสรรพสินค้า และ สื่อมวลชน  และ กต.ตร. และสถานีตำรวจทั่วประเทศ ร่วมเปิดการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร.

 

ปลัดดีอีเอส กล่าวว่า ประเด็นอาชญากรรมเกิดขึ้นทุกประเทศ ไม่เฉพาะที่ประเทศไทย ทุกคนควรมีส่วนร่วมยกเป็นประเด็นในอาเซียนและเอเปค ต้องดำเนินการร่วมกันในหลายประเทศในการส่งต่อข้อมูล โดยตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566  ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น กรอบของ พ.ร.ก. เป็นการจัดการปัญหาในเบื้องต้น แต่ที่ออกมาเร็วเพราะถ้าดำเนินการไม่ได้สถิติจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีกฎหมายมาบังคับใช้ เพื่อยับยั้งให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่กฎหมายนี้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง กระทรวงดิจิทัลฯ จึงต้องทำหน้าที่ในการสร้างมาตรการต่อไป

พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566  หรือ พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ 2566 จะทำหน้าที่จัดการกับปัญหาของแต่ละหน่วยงาน สิ่งแรกคือ การเปิดบัญชีม้า ซิมม้า ที่ผ่านมาจะมีผลตามกฎหมายก็ต่อเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงดำเนินคดีได้ แต่กฎหมายนี้จะสามารถดำเนินคดีได้ตั้งแต่เปิดบัญชี หรือเปิดใช้ซิม รวมถึงเอาผิดคนที่เป็นธุระจัดหาในการโฆษณา กฎหมายสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นมาตรการยับยั้งการกระทำผิดในขั้นต้น โดยมีการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นไม่ให้ผู้รับจ้างเปิดบัญชีเห็นแก่เงินเล็กน้อย  เพื่อลดปัญหาที่จะตามมา จุดสำคัญ คือ “การโอนเงิน” เพราะการดำเนินการทุกกรณีเน้นที่เงิน สิ่งที่ระบบสร้างขึ้นมาต้องการให้ธนาคารมีอำนาจ หน้าที่ ในการหยุด หรือ ยับยั้งตลอดสาย  ตั้งแต่ธนาคาร 1-3  กระบวนการนี้ทำให้มีการยับยั้งได้เร็วขี้น เมื่อมีการแจ้งโดยเจ้าของบัญชี

“ทั้งนี้ อยากให้ธนาคารสามารถยับยั้งได้ด้วยตัวเอง  หากพบสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้นในการโอนเงิน แต่ธนาคารก็มีข้อจำกัด  เพราะตรวจสอบได้เฉพาะธนาคารของตัวเอง แต่จะไม่สามารถตรวจสอบความผิดปกติต่างธนาคารได้ แต่ในกฎหมาย ธนาคารสามารถส่งต่อความผิดปกติ และตรวจสอบเป็นวงกว้างได้ ส่วนกรณีการแจ้งความที่ยังเป็นปัญหา คือ จะต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ทำความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ตัว พ.ร.ก. นี้เป็นอาชญากรรมด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีการปรับรูปแบบการแจ้งความ เพื่อความสะดวกของประชน โดยสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้” ปลัดดีอีเอส กล่าว 

               อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสนับสนุน ในการเข้ามาช่วยดูแลระบบและโครงสร้างรับแจ้งความออนไลน์ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบคลาวน์ของตำรวจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างวัคซีน เกิดภูมิต้านทาน ให้ประชาชนเข้าใจ ผ่านการทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ ซึ่งได้รวบรวมมาจากกลโกงของคนร้าย และสิ่งที่ประชาชนควรรู้  เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความรู้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ โดยแบบสอบถามนี้ ก็ต้องมีกลไกการควบคุม ป้องกันการถูกแอบอ้างจากมิจฉาชีพ แนบลิงค์ย้อนกลับมายังประชาชน ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจว่า มีโจรเข้ามาติดต่อกับเรา ตลอดเวลา จึงมีการเสนอให้ภาครัฐสร้าง Application ในการบล็อกเบอร์ของมิจฉาชีพ เช่น App  Whoscall ให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มกลาง มีฐานข้อมูลแจ้งเตือน กระทรวงดีอีเอส จะนำเรื่องนี้เร่งขับเคลื่อนต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “คดีออนไลน์” เป็นอาชญากรรมที่ส่งผลสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก  แม้ว่า ตร.จะพัฒนาระบบแจ้งความออนไลน์ หรือร่วมผลักดัน พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพียงแค่ทำให้คดีลดน้อยลง การที่จะป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้ดีที่สุดนั้น คือการสร้างความรู้    การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์  จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะทำงานสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีกิจกรรมโครงการณรงค์ต่างๆ ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงโครงการรณรงค์ในวันนี้

สำหรับการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” มีส่วนราชการร่วมดำเนินการ หน่วยงานระดับกระทรวง จำนวน 20 กระทรวง  ประกอบด้วย   สำนักนายกรัฐมนตรี   กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงสาธารณสุข

หน่วยงานระดับกรม จำนวน 9 กรม  ประกอบด้วย กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการขนส่งทางบก กรมศุลกากร กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการค้าภายใน กรมธุรกิจพลังงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสรรพากร หน่วยงานอิสระ จำนวน 4 หน่วย  ประกอบด้วย สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสมาคมธนาคารไทย

กองทุน  จำนวน 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

               ห้างสรรพสินค้า จำนวน 4 แห่ง  ประกอบด้วย ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า ห้างสรรพสินค้าแมคโคร ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส  และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)   ผู้ค้าน้ำมัน จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท เชลล์(แห่งประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่(แห่งประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

               นอกจากนี้ยังมี รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง สื่อมวลชน จำนวน 11 แห่ง คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจระดับ กองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจ ทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์โครงการโดยมีมาตรการสำคัญดังนี้

1) ร่วมกับทุกภาคส่วนและ กต.ตร.ในการสร้างการรับรู้ ต้านภัยออนไลน์ โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระเดียวกันทุกหน่วยงานเป็น“ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” เพื่อสื่อสารข้อความดังกล่าวไปยังบุคคลากรในหน่วยงาน ประชาชนที่มาติดต่อราชการ หรือลูกค้าที่มาใช้บริการหรือซื้อสินค้า

2) ร่วมกับภาคการศึกษา อบรมให้ความรู้ภัยโกงทางไซเบอร์ พัฒนาหลักสูตรการเตือนภัยไซเบอร์ให้เหมาะสมกลุ่มเป้าหมายและอายุ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต้านภัยไซเบอร์สำหรับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาในสถานบันการศึกษา

3)ร่วมกับภาคสื่อมวลชน นำเสนอข่าวเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะรายละเอียดขั้นตอนการโกง เพื่อเป็นแนวทางการป้องกัน รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่ข้อความ ข่าว รูป ป้ายประชาสัมพันธ์ เนื้อหาเกี่ยวกับเตือนภัยออนไลน์ระหว่างออกอากาศของช่องสื่อ

และ 4) ร่วมกับภาครัฐ ผลิตแอพไซเบอร์วัคซีน

ผบ.ตร.กล่าวว่า  “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์ ผ่านศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com  หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566 พบว่ามีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวน  287,122 คดี เฉลี่ยวันละกว่า 800 คดี รวมมูลค่าความเสียหายเกือบ 40,000 ล้านบาท  มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1)  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ  3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (คอลเซ็นเตอร์)

และขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ  วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ   ซึ่งได้รวบรวมมาจากกลโกงของคนร้ายและสิ่งที่ประชาชนควรรู้  เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีความรู้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์อีกทางหนึ่ง และขอให้บอกต่อเพื่อทำแบบทดสอบเพื่อให้มีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันภัยกันทุกคน และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ เชื่อว่าไซเบอร์วัคซีนนี้  ถือเป็นวัคซีนที่ดี เมื่อได้รับภูมิแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ต่อเนื่องตลอดไป  ถ้าคนไทยทุกคนได้รับวัคซีนนี้อย่างทั่วถึง  จะเป็นการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากที่สุด ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com  Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์  หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441

 

 

 

Visitors: 11,290,426