โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ใหญ่ที่สุดในโลก! จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว กฟผ. จ่อลุยต่อ15 โครงการทั่วประเทศ โชว์ศักยภาพผู้นำพลังงานสะอาดรับเทรนด์โลก

 

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกเขื่อนสิรินธร กฟผ. เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว เตรียมดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของ จ.อุบลราชธานี รับนักท่องเที่ยวต้นปี 65 พร้อมลุยต่อโครงการใหม่อีก 15 แห่งทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ตอกย้ำผู้นำพลังงานสะอาด ร่วมผลักดันประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยจัดพิธีเปิดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มีนายสรา สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 (อุบลราชธานี) นายธนกร สอนอาจ พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี นายวันชัย โภชธิหรรษา ผู้จัดการโครงการฯ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทคู่สัญญา และผู้บริหาร กฟผ. ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมอาคารช้างน้อย เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

 

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน โดยเตรียมเปิดตัวโรงไฟฟ้าแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.อุบลราชธานี เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมอีกด้วย

จากผลสำเร็จครั้งนี้ กฟผ. เตรียมเดินหน้าโครงการต่อไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีก 15 โครงการทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีจุดเด่นที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิม มาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสง หรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ โดยนำระบบ EMS (Energy Management System) ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ในอนาคต กฟผ. เตรียมสร้างศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น

โรงไฟฟ้าฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบ่งออกเป็น 7 ชุด บนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์และทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ นอกจากนี้ ยังใช้ระบบส่งไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อนเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุดเต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงได้ ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำ โดยวางแผงโซลาร์เซลล์ให้มีมุมเอียง มีช่องว่างระหว่างแผงและทุ่นลอยน้ำ แสงแดดสามารถลอดผ่านลงในน้ำได้ จึงไม่กระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ และการนำแผงโซลาร์เซลล์วางบนผิวน้ำ จะช่วยลดความร้อนของแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึงร้อยละ 10 - 15 ทั้งยังช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี

 

Visitors: 11,025,162