พาณิชย์ชี้โซลาเซลล์ไทยยังสามารถบุกตลาดสหรัฐฯ แม้โดนเซฟการ์ด

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยการวิเคราะห์ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการปกป้องหรือเซฟการ์ด (safeguard) กับสินค้าโซลาเซลล์ มาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยประเมินว่าสินค้าโซลาเซลล์ของไทยยังสามารถส่งออก และแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ต่อเนื่อง 

ผอ.สนค. กล่าวว่าสหรัฐฯ ใช้มาตรการปกป้องในรูปแบบโควตาภาษี (TRQ) กับสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ (Crystalline Silicon Photovoltaic Cells and Modules: CSPV) หรือโซลาเซลล์ และชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของโซลาเซลล์ จากเกือบทุกประเทศ (รวมทั้งไทย) ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นเวลา 4 ปี ครอบคลุมสินค้า 4 พิกัด (HS 8 หลัก) ได้แก่ 8541.40.60 8501.31.80 8501.61.00 และ 8507.20.80 ต่อมา สหรัฐฯ ได้ปรับมาตรการให้แรงขึ้น จากเดิมที่เคยยกเว้นการเก็บภาษีเซฟการ์ดสินค้าแผงโซลาเซลล์ชนิดที่รับแสงได้ 2 ด้าน (bifacial solar panels) ก็เปลี่ยนมาเก็บภาษี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 ต.ค. 2563 ซึ่งสินค้านี้อยู่ภายใต้พิกัด 8541.40.60 นอกจากนี้ ได้เพิ่มอัตราภาษีเซฟการ์ดเฉพาะสินค้าโซลาเซลล์ พิกัด 8541.40.60 ในปีที่ 4 เป็นร้อยละ 18 (จากเดิมร้อยละ 15) มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2564 – 6 กุมภาพันธ์ 2565

สนค. ประเมินว่าการปรับเงื่อนไขมาตรการเซฟการ์ดของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าโซลาเซลล์จากไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงแรกเท่านั้น เนื่องจากตั้งแต่สหรัฐฯ ใช้มาตรการเซฟการ์ด การส่งออกสินค้าอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง รวมถึงโซลาเซลล์จากไทยไปสหรัฐฯ หดตัวเฉพาะในปีแรกที่เริ่มบังคับใช้มาตรการ (ปี 2561) เท่านั้น โดยหดตัวร้อยละ 72.75 จากปีก่อนหน้า ก่อนจะฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 318.37 จนมีมูลค่าการส่งออก 492.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับก่อนมีมาตรการ และขยายตัวร้อยละ 110.68 ในปี 2563 สู่ระดับ 1,037.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยกลายเป็นแหล่งนำเข้าโซลาเซลล์อันดับที่ 3 ของสหรัฐฯ (รองจากมาเลเซีย และเวียดนาม) อีกทั้ง ไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ โดยส่วนแบ่งตลาดของไทยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากประมาณร้อยละ 7 ในช่วง 2560-2562 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ในปี 2563

ผอ. สนค. เปิดเผยผลการประเมินเพิ่มเติมว่า สินค้าโซลาเซลล์ของไทยน่าจะยังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในตลาดสหรัฐฯ ต่อไปได้ เนื่องจากไทยไม่เสียเปรียบด้านอัตราภาษีเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ที่ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการเซฟการ์ดเช่นเดียวกัน ประกอบกับไทยสามารถครองอันดับ 3 ในการเป็นแหล่งนำเข้าของสหรัฐฯ แม้ว่าราคานำเข้าต่อหน่วยจากไทยจะสูงกว่าคู่แข่งเกือบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยมีมาตรฐาน คุณภาพ และคุณลักษณะ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ แนวโน้มความตื่นตัวของประชากรโลกเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้สินค้าโซลาเซลล์ของไทยยังเติบโตต่อไปได้ในตลาดสหรัฐฯ ในระยะ 1-2 ปีนี้

นายภูสิต กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางเชิงรุกต่อการส่งออกสินค้าโซลาเซลล์ของไทย โดยปัจจุบันไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในการส่งออกสินค้าโซลาเซลล์เพิ่มขึ้น มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54 ของการส่งออกสินค้านี้ทั้งหมดของไทย ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ควบคู่กับการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ โดยมีตลาดศักยภาพหลายแห่ง อาทิ เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งการส่งออกสินค้าโซลาเซลล์ของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการผลิตสินค้าโซลาเซลล์ และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการเร่งสร้างความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน จะส่งผลดีในระยะยาวต่อไทยทั้งในด้านการค้าระหว่างประเทศ และจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย


 

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ไทยยังต้องติดตามแนวโน้มและสถานการณ์ตลาดโซลาเซลล์สหรัฐฯ ต่อไป โดยประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จำนวนผู้ผลิตโซลาเซลล์ภายในสหรัฐฯ เกิดใหม่ ที่เพิ่มขึ้นมากหลังจากปี 2561 และผู้ผลิตสหรัฐฯ นำระบบอัตโนมัติมาใช้ รวมถึงนโยบายมุ่งเน้นการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศของประธานาธิบดีไบเดน ที่อาจทำให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าโซลาเซลล์จากต่างชาติในอนาคต นอกจากนี้ เนื่องจากมาตรการเซฟการ์ดที่บังคับใช้อยู่นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 จึงต้องติดตามว่าสหรัฐฯ จะมีการต่ออายุมาตรการเซฟการ์ดหรือออกมาตรการใหม่หรือไม่และอย่างไร

 

Visitors: 11,025,071