กระทรวงพลังงานจับตาสถานการณ์พลังงานโลกเตรียมพร้อมทุกมาตรการลดผลกระทบ และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

 

กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด หลังราคาพลังงานโลกทุกชนิดปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อไปอีก พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านราคาแก่ประชาชน รวมทั้งการวางแผนรับมือจัดหาเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติช่วงเดือนเมษายนนี้ให้ดีที่สุด มั่นใจว่าจะก้าวผ่านสถานการณ์นี้ได้ 

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2565) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษก  กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันแถลงสถานการณ์พลังงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านราคาที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เพื่อเตรียมแผนรับมือ และกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่างๆให้ดีที่สุด

               นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยว่า “ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม  ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน  และในปีนี้มีสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแหล่ง  ก๊าซธรรมชาติ แปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานภายใต้ กบง. ติดตามและกำกับการดำเนินการ  โดยยึดหลักการรักษาความมั่นคงในการจัดหาและคำนึงถึงผลกระทบค่าไฟฟ้าที่จะมีต่อประชาชนให้น้อยที่สุด คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งจัดหาเชื้อเพลิงและบริหารจัดการตามแผนที่กำหนด                    โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการแต่ละมาตรการให้เป็นไปตาม Merit Order รวมถึงพิจารณาแผนการนำเข้า LNG  และการจัดสรรตาม   ความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน”

         ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน เผยว่า “ราคาน้ำมันโลก  ได้แรงหนุนจากหลายปัจจัย ทั้งการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นหลังจากโควิดคลี่คลาย และปริมาณการผลิตที่ยังคงออกสู่ตลาดอย่างจำกัด มีการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron จะคลี่คลายในครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยรายงานฉบับเดือน ม.ค. 65 ของ OPEC คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.65 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 96.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.16 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ซึ่งเป็นตัวเลขความต้องการที่สูงขึ้นมาก และมีผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

ส่วนมาตรการปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปรับเป็น B5 ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยว่า “กรมธุรกิจพลังงานในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาสัดส่วนการผสม ไบโอดีเซล  (บี100) ในภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการปรับสูตรการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะปกติ เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง 2566) ได้กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) ได้กำหนดเหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เพียงเกรดเดียว
ซึ่งมาตรการดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านราคาโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะทั้งผู้ใช้รถยนต์ดีเซลและเกษตรกรชวนสวนปาล์ม นอกจากนั้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีเวลาในการบริหารจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงในรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าหรือ
EV ซึ่งจะกระทบกับการใช้น้ำมัน คณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน  ภายใต้คณะกรรมการปาล์มน้ำมัน ได้เริ่มส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ รวมทั้งกรีนดีเซล และ BioJet ที่จะสามารถรองรับปริมาณน้ำมันปาล์มได้ในอนาคต

ด้านนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานการเจรจาระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิม (บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) และผู้รับสัญญารายใหม่ (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัท ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลง G1/61 เดินหน้าต่อไป โดยหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เร่งผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี วางแผนบริหารจัดการ และเตรียมการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และได้ปริมาณตามเงื่อนไขในการประมูลโดยเร็วที่สุด ซึ่งมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานในช่วงเดือนเมษายนนี้                                   กรมฯ จะสามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการประสานกับผู้รับสัมปทานรายอื่น ๆ ให้เตรียมความพร้อมให้

     ผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทน

               สำหรับแผนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในปี 2565 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เผยว่า “การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในระยะต่อไป กระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดปริมาณ และ Zoning ให้สอดคล้องกับศักยภาพ เป้าหมาย และนโยบายการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตร โดยกำหนดพื้นที่เหมาะสมเพื่อปลูกพืชพลังงาน และกำหนดพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า(ไฟตก/ไฟดับ/เสริมความมั่นคง) เพื่อลดการสูญเสียในระบบส่ง และไม่เป็นภาระกับระบบโครงข่ายพลังงาน และ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการเพิ่มมูลค่าพืชพลังงาน โดยจะหาแนวทางการนำผลผลิตของการปลูกพืชพลังงานไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ในเฟสที่สอง 400 เมกะวัตต์ ในปี 2565 ดังนี้ (1) วิเคราะห์ประเมินผลโครงการนำร่อง (2) วิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการขยายผลในระยะที่ 2 (3) กำหนดรูปแบบเป้าหมายการดำเนินโครงการ ได้แก่ กำหนดพื้นที่ จัดหาเทคโนโลยี ส่งเสริมการแปรรูปจัดเตรียมเชื้อเพลิง การสร้างรายได้จากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ประเมินต้นทุน กำหนดราคารับซื้อเชื้อเพลิง (4) กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าและโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสม”  “แม้ว่าสถานการณ์ด้านราคาพลังงานจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ผมขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไม่ได้มีแหล่งน้ำมันมากมายตามมีปรากฎหรือมีการส่งต่อในสื่อโซเชียล ซึ่งการที่ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ทำให้การขึ้นลงของราคาจะเป็นไปตามราคาตลาดโลกจริงๆ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์เพื่อเตรียมมาตรการต่างๆ มารองรับและบรรเทาผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้อาศัยกลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนทุกภาคส่วนเนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นองค์ประกอบหนึ่งในต้นทุนสินค้าและบริการ ส่วนประเด็นเรื่องการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการนำเข้า LNG เพื่อนำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน กระทรวงพลังงานให้ได้ความสำคัญในการจัดลำดับหรือ Merit order ในการเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า LNG Spot การใช้น้ำมันทดแทน การรับซื้อไฟฟ้า หรือการเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อดูแลค่า Ft ให้ดีที่สุด  อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นวิกฤตพลังงานของโลก ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีก 20 สตางค์ต่อลิตร ขอให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด

Visitors: 11,025,269