กปน. ตั้งเป้าลดน้ำสูญเสีย 27.50% พร้อมส่งมอบน้ำประปาสะอาดปลอดภัยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

 

นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า กปน. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจหลักในการผลิตน้ำประปาสะอาด ปลอดภัย ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กว่า 2.5 ล้านครัวเรือน หรือมากกว่า 12 ล้านคน งานลดน้ำสูญเสีย เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ กปน. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยน้ำสูญเสีย หมายถึง น้ำประปาที่ผ่านกระบวนการผลิตแต่สูญเสียไปก่อนที่จะถึงบ้านลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการแตกรั่วของท่อประปา หากยังมีน้ำสูญเสียเป็นจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการน้ำประปา กปน. จึงเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อลดปัญหาน้ำสูญเสียที่มีองค์ประกอบที่สำคัญหลายปัจจัย เช่น วางแผนซ่อมบำรุงท่อประปาที่ใกล้ครบอายุการใช้งาน หรือเปลี่ยนท่อใหม่ นำเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้การสำรวจหาท่อรั่วได้อย่างแม่นยำ และซ่อมบำรุงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถช่วยลดการสูญเสียของน้ำ รวมถึงลดการใช้น้ำต้นทุนได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อ กปน. มีการดำเนินงานซ่อมท่อและวางท่อประปาใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาและอาจส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน คือ ความสะดวกในการใช้ทางเท้า หรือการจราจร ซึ่ง กปน. คำนึงถึงความสะดวกปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญและลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด  โดยเมื่อพบจุดรั่วที่ต้องดำเนินการซ่อมท่อหรือเปลี่ยนท่อ รวมถึงงานวางท่อประปาใหม่นั้น กปน. จะต้องทำงานในเวลากลางคืนให้แล้วเสร็จก่อนรุ่งเช้า ถือเป็นงานที่มีความยากลำบากที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ให้สามารถลดน้ำสูญเสียในระบบท่อประปาอย่างมีประสิทธิภาพ

           ในปีงบประมาณ 2566 กปน. จึงได้ทุ่มงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนการดำเนินงานบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย โดยตั้งเป้าลดอัตราน้ำสูญเสียสะสมปี 2566 ที่ 27.50% ด้วยการดำเนินงานซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนท่อประปาใหม่ระยะทางกว่า1,200 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการ• ปรับปรุงศักยภาพงานป้องกันการผุกร่อนของท่อประธานและท่อส่งน้ำ • โครงการบริหารจัดการพื้นที่เฝ้าระวัง ในพื้นที่เป้าหมายที่มีน้ำสูญเสียสูง • โครงการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อการบริหารจัดการน้ำสูญเสียในระบบท่อจ่ายน้ำ และท่อประธาน • โครงการบริหารจัดการเครื่องวัดระบบสูบจ่ายน้ำ ระบบเฝ้าระวังน้ำสูญเสีย  • โครงการบริหารจัดการแรงดันน้ำ •  งานปรับปรุงประตูน้ำและวาล์วระบายอากาศ • งานเพิ่มแรงดันท่อประธาน • โครงการการศึกษาวิจัยระดับอัตราน้ำสูญเสียที่เหมาะสมกับอายุโครงข่ายท่อประปา • โครงการเพิ่มแรงดันน้ำในพื้นที่เป้าหมายอย่างบูรณาการ • การติดตั้ง Booster Pump เร่งด่วน และ •  การเพิ่มแรงดันน้ำในพื้นที่ DMA เป้าหมายอย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ อาทิ • การสำรวจหาท่อรั่วในระบบท่อจ่ายน้ำด้วยระบบดาวเทียม การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ได้จากการส่งคลื่นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า(Electromagnetic Waves) เพื่อหาน้ำสูญเสียใต้พื้นดิน ผลการค้นหาครอบคลุมพื้นที่ 3,500 ตารางกิโลเมตรต่อการสำรวจ 1 ครั้ง เพิ่มคุณภาพความแม่นยำในการสำรวจหาท่อรั่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ • งานบริหารจัดการน้ำสูญเสียด้วยเทคโนโลยี Sensors โดยการติดตั้งอุปกรณ์ sensor เข้ากับอุปกรณ์ประปา และตรวจวัดความผิดปกติ เช่น การสั่นสะเทือนของท่อหรือเสียงของน้ำที่ไหลภายในเส้นท่อ พร้อมวิเคราะห์ และแสดงผลตำแหน่งที่คาดว่าเป็นจุดรั่วไหลได้ • การสำรวจ
หาท่อรั่วด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ด้วยความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (
NECTEC) พัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วแบบพกพา วิเคราะห์ และระบุตำแหน่งของจุดรั่วโดยใช้หลักการของ AI จดจำรูปแบบเสียงน้ำรั่ว ทดสอบตัวต้นแบบ และนำไปใช้จริงในพื้นที่รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับ Acoustic Rod ใช้งานบนมือถือของผู้ปฏิบัติงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

นายมานิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้เมื่อทำการเปลี่ยนเป็นท่อประปาใหม่แล้ว นอกจากประชาชนจะมีน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัยพร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว กปน. ยังเพิ่มความสุขให้ประเทศด้วยน้ำประปาที่ไหลแรงขึ้น ไม่ต้องหยุดจ่ายน้ำเพื่อซ่อมท่อประปาบ่อย ๆ ทั้งยังช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการซ่อมท่อประปาได้ อีกทั้ง การเปลี่ยนท่อประปาใหม่ดังกล่าว จะช่วยลดอัตราการแตกรั่วของท่อประปา และน้ำสูญเสียเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมความมั่นคงของน้ำประปา สาธารณูปโภคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมสร้างเศรษฐกิจ และสังคมไทยอย่างยั่งยืน พร้อมเป็นการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคหลักที่สำคัญของประเทศให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

Visitors: 11,025,258