กปน. เฝ้าระวังน้ำด้อยคุณภาพในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เตรียมพร้อมแผนรับมือ มั่นใจไม่กระทบการผลิตน้ำประปา

 

นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะโฆษก กปน. เปิดเผยว่า จากการบูรณาการข้อมูลร่วมกับกรมชลประทาน ทราบว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องเปิดประตูน้ำเพื่อระบายน้ำค้างทุ่งจากพื้นที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลางลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่มีการใช้ประโยชน์จากชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ส่งผลให้น้ำดิบในแม่น้ำเจ้าพระยามีคุณภาพด้อยลง

กปน. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจผลิตน้ำประปาสะอาด ปลอดภัย ให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ปลายน้ำ ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี มาผลิตน้ำประปา ได้กำหนดเกณฑ์ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งขณะนี้พบว่า ค่า DO อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง (ข้อมูลล่าสุด 26 พ.ย. 2564 มีค่าอยู่ในช่วง 2.38 – 2.75 มิลลิกรัมต่อลิตร) โดย กปน. มิได้นิ่งนอนใจ ได้เตรียมสารเคมี เครื่องจักร และเครื่องเติมอากาศให้พร้อมใช้งาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ทันที ไม่กระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำประปา จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า กปน. สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) อีกทั้งสถานการณ์ขณะนี้ เกิดขึ้นเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนทางลุ่มน้ำแม่กลองไม่ได้รับผลกระทบ

นายคมกฤช กล่าวต่อไปว่า กปน. มีระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบแบบ Real Time ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำได้จากหลายตัวชี้วัด เช่น ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ค่าความเค็ม ค่าความขุ่น เป็นต้น สามารถแจ้งเตือนโรงงานผลิตน้ำได้ล่วงหน้า ทั้งนี้หากมีความเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ กปน. จะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ นอกจากนี้ กปน. ขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำประปาโปรดใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ไม่ปล่อยทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ เพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรน้ำอันมีค่าให้มีใช้อย่างยั่งยืน

 

 

Visitors: 11,025,013