CPAC ผนึก กพร. ร่วมศึกษาพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ จากชุมชนขุมเหมืองอย่างยั่งยืน ในปี 65

 

CPAC ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. เพื่อร่วมพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำชุมชนภายใต้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ของ CPAC มากว่า 16 ปี โดยสร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งกับชุมชนและหน่วยงานราชการ สร้างต้นแบบโครงการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ ผนวกกับการใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสำรวจและก่อสร้าง โดยยึดหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) มุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้ง Value Chain เผยวิกฤตแล้งปี 65 จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ยังมีพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำให้กับชุมชนใกล้เคียงได้ จึงเชื่อมั่นความร่วมมือนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และชุมชนพื้นที่เกษตรกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำโดย นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและองค์ความรู้ และทำงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ต่อยอดโครงการต้นแบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำจากขุมเหมืองเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี”

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเสริมว่า “กพร. ได้สำรวจขุมเหมืองโดยการประเมินปริมาณน้ำและศักยภาพในการกักเก็บน้ำขุมเหมืองด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) และเทคโนโลยีเรือสำรวจความลึกใต้น้ำสำหรับการรังวัดจัดทำแผนที่ภูมิประเทศขุมเหมือง พร้อมทั้งวิเคราะห์คุณภาพน้ำของขุมเหมืองทั่วประเทศ พบว่าปัจจุบันมีขุมเหมืองที่มีศักยภาพและสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า 240 บ่อ มีปริมาตรน้ำไม่น้อยกว่า 218 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่วนใหญ่คุณภาพน้ำผ่านเกณฑ์มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อการนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคและเกษตรกรรมโดยจะร่วมมือกับ CPAC เพื่อขยายผลโครงการต้นแบบไปยังขุมเหมืองอื่น ๆ ต่อไป”

ส่วนทางด้าน นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กล่าวว่า “CPAC พร้อมสนับสนุนทั้งการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ ตามทิศทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้น Green Solution โดยคำนึงถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้เสียทั้ง Value Chain ทั้งนี้ CPAC และ กพร. มีแผนนำร่องโครงการโดยมุ่งพัฒนาการใช้ประโยชน์

จากน้ำในขุมเหมือง ได้แก่ 1) การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ผลักดันให้เกิดการเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ขั้นตอนแรก และ 2) การใช้เทคโนโลยีด้านการประเมินพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) 3) การใช้เทคโนโลยีการสำรวจ เช่น Resistivity, Ground Penetrating Radar เป็นต้น เพื่อวัดปริมาณน้ำ 4) เทคโนโลยีวิเคราะห์คุณภาพน้ำและนวัตกรรมห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ขุมเหมืองด้านชีวภาพ 5) การสร้างแบบจำลองและการออกแบบก่อสร้างด้วย CPAC BIM (Building Information Modeling) เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 6) การออกแบบระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Pump System) และระบบการส่งน้ำระยะไกล โดยกำหนดเป้าหมายหลักภายในปี 2566 จะสามารถแจกจ่ายน้ำในพื้นที่ขุมเหมืองไปยังชุมชนให้เข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรม และขยายผลไปยังขุมเหมืองอื่น ๆ ในประเทศที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอด

ดังนั้น การลงนามที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่าย และเป็นจุดเริ่มต้น แบบอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่เหมืองแร่ ในการพัฒนานาโซลูชัน “Turn Waste to Value” เปลี่ยนน้ำในพื้นที่ขุมเหมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างคุณค่าให้กับชุมชนและพื้นที่ภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

Visitors: 11,025,259