สนพ. เผย ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังโอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน

 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนธันวาคม แม้ว่าสหรัฐฯ ได้กดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน อีกทั้งตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากรายงานข่าวที่ว่า บริษัทซาอุดี อารามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบประเภท Arab Light Crude สำหรับลูกค้าในเอเชีย สู่ระดับ 2.70 ดอลลาร์ในเดือนธันวาคม โดยปรับเพิ่มขึ้น 1.40 ดอลลาร์จากระดับของเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้สัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้อนุมัติร่างกฎหมายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ 

ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 1 – 7 พฤศจิกายน 2564) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 81.65  เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 81.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 1.85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งจากรายงานข่าวกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย จะแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนธันวาคม นี้ ในขณะที่กลุ่มโอเปกพลัสมีมติเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือนธันวาคม 2564 ที่ระดับ 400,000 บาร์เรล/วันคงเดิมจากข้อตกลงในเดือนกรกฎาคม 2564  อีกทั้งอิหร่านพร้อมตกลงเข้าร่วมการเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ กับ 6 ชาติมหาอำนาจ ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน นี้ โดยอิหร่านได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรที่จำกัดการส่งออกน้ำมัน ซึ่งหากสามารถบรรลุข้อตกลงได้จะทำให้มีอุปทานน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกของอิหร่าน  และสำนักวิเคราะห์ Energy Aspects ได้ประเมินว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มระบายน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจอนุมัติปริมาณ 30 ล้านบาร์เรล เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพง

ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย

ราคาน้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 101.84เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 98.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 99.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.00 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 2.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 3.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดียและจีน  อย่างไรก็ตามราคายังได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ ปรับลดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดย Platts คาดการณ์ปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินของจีน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 สูงขึ้น 11% มาอยู่ที่ 6.55 ล้านบาร์เรล โดยปริมาณส่วนใหญ่ (2.55 ล้านบาร์เรล) มาจากบริษัท Zhejiang Petroleum and Chemical Co., Ltd.(ZPC) โรงกลั่นของบริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดีย (กำลังการกลั่นรวม 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน) กลั่นน้ำมันในเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 7% มาอยู่ที่ระดับ 90%

ราคาน้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 29 ต.ค. 64 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 127.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ Sinopec และ PetroChina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนมีแผนที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันดีเซลในเดือน พ.ย. 64 เพื่อช่วยบรรเทาความตึงตัวของอุปทาน

สำหรับค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.14 บาท/เหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 33.5131 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.54 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลลดลง 0.24 บาท/ลิตร (ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล และดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.47 บาท/ลิตร) ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 44,328  ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 38,420 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 5,908 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 25,254  ล้านบาท และบัญชี LPG  -19,346  ล้านบาท)

 

Visitors: 11,025,142