สนพ. เผย ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ในยุโรป ส่งผลกระทบความต้องการใช้น้ำมัน

 

 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มทรงตัว โดยมีปัจจัยสำคัญจากกลุ่มโอเปกพลัสที่อาจถูกกดดันจากทำเนียบขาวของสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากการเจรจาของสหรัฐฯ กับประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ และการที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย อาจพิจารณาการระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) จะกดดันราคาน้ำมันให้ลดลงในระยะสั้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ระลอกใหม่ในยุโรป ส่งผลให้ออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ รวมทั้งเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปอาจต้องล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน

ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 15 – 21 พฤศจิกายน 2564) ราคาน้ำมันดิบดูไบ และเวต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 79.02 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 2.94 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) แสดงความกังวลว่า ตลาดน้ำมันทั่วโลกอาจเผชิญกับสภาวะอุปทานส่วนเกินภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ก่อนหน้านี้ตลาดน้ำมันทั่วโลกให้ความสนใจไปที่อุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงทำตามข้อตกลงเดิมที่ 400,000 บาร์เรล/วัน กลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำมันหลัก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังพิจารณาคำขอของสหรัฐฯ ในการระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อลดราคาของพลังงานทั่วโลก โดยล่าสุดจีนและญี่ปุ่นเผยมีแนวโน้มจะปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังสำรอง ซึ่งตลาดกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ระลอกใหม่ในยุโรป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย

ราคาน้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.64เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 92.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 93.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 4.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 3.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 3.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังคงจำกัด จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อีกทั้งคาดการณ์การส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งอุปทานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการที่จีนคาดว่าจะส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอุปสงค์ภายในจีนยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 1.36 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.21 ล้านบาร์เรล Insights Global (IG) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdan-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 0.21 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.39 ล้านบาร์เรล  ราคาน้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 91.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อุปทานน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค จากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อินเดียและญี่ปุ่น โรงกลั่นในภูมิภาคปรับอัตราการกลั่นสูงขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมาตรการเปิดเมืองของหลายประเทศ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 0.02 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.16 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์

 

สำหรับค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.18 บาท/เหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.8637 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.98 บาท/ลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.93 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.23 บาท/ลิตร  ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 43,620 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 40,664 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 2,956 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 23,356 ล้านบาท และบัญชี LPG  -20,400  ล้านบาท)

 

Visitors: 11,025,089