เอสซีจีรวมพลัง 315 พันธมิตร รัฐ เอกชน พลังหญิง-คนรุ่นใหม่ สู้วิกฤตโลกรวน ขับเคลื่อน ESG ทั่วอาเซียน เผยแผนเร่งด่วนดันนวัตกรรม Net Zero ครั้งแรกในประเทศ ผนึกความร่วมมือรัฐ เอกชน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

 

ภาคเอกชน ภาครัฐ ประชาสังคม และพันธมิตรระดับโลก ผนึกพลังความร่วมมือด้าน ESG เป็นครั้งแรกในไทยในงาน ESGSymposium2022 มุ่งเร่งแก้วิกฤตซ้ำซ้อน โลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ  อาหารขาดแคลน พิษโควิด ปัญหาเงินเฟ้อ พลังงานพุ่ง เผยข้อสรุปเร่งดันแผนจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือพัฒนานวัตกรรม Net Zero ครั้งแรกในประเทศ เพื่อระดมความรู้ เทคโนโลยีจากทั่วโลก คาดเห็นความชัดเจนปลายปีนี้   ขณะที่ภาคเอกชนประกาศคำมั่นเดินหน้าเชิงรุกขยายเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมจับมือภาครัฐด้วย 10 แนวทางมุ่งสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานเอื้อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนเงินทุน จัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะ และการออกแบบที่ยั่งยืน

 

 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยในงาน ESG Symposium 2022 :Achieving ESG and Growing Sustainability ว่า “เอสซีจีได้ยกระดับ SD Symposium ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 สู่  ESG Symposium เพื่อขยายพลังความร่วมมือตามแนวทาง ESG ซึ่งเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตซ้ำซ้อนที่กำลังเผชิญอยู่ โดยที่ผ่านมาเวทีดังกล่าวได้ผลักดันความร่วมมือจากระดับโลกเชื่อมโยงสู่ระดับประเทศเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขวิกฤตที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือสร้าง Roadmap ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทยกับสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association GCCA) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยให้ดำเนินนโยบายบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ให้เป็นทิศทางเดียวกับระดับโลก พร้อมเตรียมนำแผนงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ประเทศอียิปต์ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนกับ Alliance to End Plastic Waste-AEPW ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทที่ทำงานร่วมกันในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมพลาสติก ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค จนถึงผู้ที่จัดการพลาสติกหลังจากใช้แล้ว เป็นต้น

“แม้ว่าที่ผ่านมา คนได้เริ่มตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหา และลุกขึ้นมาลงมือทำ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ตลอดจนมีความร่วมมือเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก  แต่ก็ยังไม่ทันต่อวิกฤตโลกที่ทวีความรุนแรงและใกล้ตัวมากขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง น้ำท่วม ทรัพยากรที่เริ่มไม่เพียงพอ เกิดภาวะวิกฤตอาหารและพลังงานขาดแคลนทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตโควิด 19 ที่กลับมาอีกระลอก โรคระบาดใหม่ที่พร้อมก่อตัว รวมถึงเงินเฟ้อ ความยากจนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น  ขณะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศา หากไม่เร่งความร่วมมือแก้ไขจนอุณภูมิโลกร้อนเกินเป้าหมายที่ 1.5 องศา โลกจะเปลี่ยนแปลงจนเราไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้แบบเดิม ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกหน่วยงานต้องเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตนเอง เริ่มจากการปรับพฤติกรรมง่ายๆ ใกล้ตัวและขยายไปสู่ความร่วมมือเพื่อแก้ไขให้ทันท่วงที  การจัดงาน ESG

Symposium 2022 ในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้นและทันต่อวิกฤตโลก ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม (Environmental)  สังคมเหลื่อมล้ำ (Social)  โดยยึดถือความโปร่งใส (Governance) เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกการดำเนินงาน” นายรุ่งโรจน์กล่าว

 

 ด้านนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เปิดเผยว่า จากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022  ได้ข้อสรุป  2 แนวทาง ที่นำไปสู่การขยายผล และการลงมือปฏิบัติได้จริง  เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ภายในปี 2065 ดังนี้

1.จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ Net Zero ผ่านรูปแบบของ Industrial and Academic Consortium ครั้งแรกในไทย ที่ระดมความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชนจากระดับโลกและระดับประเทศ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายส่วน ทั้งพลังงาน ขนส่ง ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ก่อสร้าง อุปโภคบริโภค สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT-Massachusetts Institute of Technology)  สมาคมคอนกรีตโลก (GCCA- GlobalCementandConcreteAssociation)  สภาอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งความร่วมมือนี้ มีเป้าหมายเพื่อเร่งทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS - CarbonCapture,UtilizationandStorage)  การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก (Fuel Switching)  พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และระบบพลังงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง (Hydrogen Economy) คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้

2.การผนึกกำลังขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของภาคเอกชน 60 องค์กร ผ่านความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุมมิติด้านพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน เช่น
กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือ 23 องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CECI-Circular Economy in Construction Industry และโครงการความร่วมมือ PPP Plastics(Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลขับเคลื่อนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)  องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และพันธมิตรกว่า 30 องค์กร   โดยจากการระดมสมองของภาคเอกชนในครั้งนี้ ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด  การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

นอกจากนี้ งาน ESG Symposium 2022 ยังให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขวิกฤตต่างๆ ร่วมกัน เนื่องจากผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการดูแล จุนเจือครอบครัว รวมถึงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน และประเทศชาติ โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง สร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้หญิงทุกคนมองเห็นศักยภาพในตนเอง  พร้อมพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถในการก้าวผ่านความยากลำบากต่างๆ ในชีวิต มีรายได้ มีอาชีพมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับการส่งเสริมบทบาทสตรี ตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม APEC 2022 Thailand  พร้อมชวนสังคมให้เชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวคิด มีความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย เป็นพลังช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางทั่วอาเซียน เช่น ตัวแทนเยาวชนจากอินโดนีเซีย ที่พัฒนานวัตกรรมม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับคนมีรายได้น้อย หรือตัวแทนเยาวชนไทยที่พัฒนาโปรแกรมแปลภาษามือ เพื่อช่วยให้คนพิการใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากขึ้น   

 

“การแก้วิกฤตโลกถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน ต้องเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตนเอง รวมทั้งผนึกกำลังความร่วมมือให้เกิดผลจริง เชื่อมั่นว่าข้อสรุปความร่วมมือจากเวที ESG Symposium 2022 จะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลในวงกว้างตามแผนงานต่อไป โดยเอสซีจี ยินดีเป็นตัวกลางประสานกับทุกๆ ฝ่าย ไปพร้อมกับเร่งติดตามความคืบหน้า เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนคือ โครงการความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้า และทุกคนในห่วงโซ่คุณค่าได้รับประโยชน์ เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ตามแนวทาง BCG และส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป

Visitors: 11,025,283