พพ. เดินหน้า จับมือ 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำ เชื่อมความร่วมมือออกแบบอาคาร ได้มาตรฐาน BEC พัฒนาองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษา

 

 

นายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษา ให้เกิดความตระหนักรู้ในการออกแบบอาคารให้สอดรับมาตรฐาน BEC และเตรียมพร้อมเครือข่ายฝึกอบรมในฐานะตัวแทนของ พพ. ด้านการตรวจประเมินอาคารตามมาตรฐาน BEC มุ่งสู่การสร้างผู้ตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงานในอาคาร เพื่อบรรลุเป้าหมายของแผน EEP 2018 ในการลดใช้พลังงานลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2580 และมาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065 ตามที่ไทยได้ประกาศในที่ประชุม COP26
โดยการลงนามครั้งนี้ เป็นการสานต่อความร่วมมือที่จะแสดงเจตนารมณ์ที่สถาบันการศึกษา จะร่วมมือผลักดันนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานไปสู่การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร และพร้อมจะเป็นเครือข่ายหน่วยฝึกอบรมตัวแทน พพ. ด้านการฝึกอบรมผู้ตรวจประเมินอาคารตามมาตรฐาน BEC และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ได้ดำเนินการต่อไป

 


อย่างไรก็ตาม พพ. ได้เตรียมความพร้อมในการขยายเครือข่ายความร่วมมือในด้านวิชาการให้เพิ่มมากขึ้น โดยวางเป้าหมายสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่มีความพร้อม เพื่อให้บุคคลากรของสถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษาที่มีคุณสมบัติได้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดในการบังคับใช้มาตรฐาน BEC ซึ่ง พพ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรผู้ออกแบบอาคาร สถาปนิก วิศวกร เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ทำหน้าที่อนุญาตก่อสร้าง รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐ
นายเรืองเดช กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรฐาน BEC คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณไตรมาสแรกในปี 2565 ซึ่งหลังจากมีการบังคับใช้แล้ว  พพ. ได้เตรียมแผนงานและกลไกการตรวจติดตามและประเมินผลการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในภาคอาคาร และบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) ที่กำหนดเป้าลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ในปี 2580
  “ตามแผน EEP 2018 นั้น ได้วางมาตรการในการลดใช้พลังงานในทุกภาคส่วนที่สำคัญ ซึ่งมีการใช้พลังงานสูงได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการดำเนินงานแบบผสมผสาน ทั้งมาตรการบังคับใช้ด้วยกฎหมาย และมาตรการจูงใจสนับสนุน เช่น กองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น โดย BEC จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะมีส่วนทำให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารได้เป็นอย่างดีนายเรืองเดชกล่าว

Visitors: 11,025,169