คุ้มภัยโตเกียวฯ จัดทัพโตผ่าน 4 กลยุทธ์ เบี้ยรับสิ้นปีแตะ 1.7 หมื่นล.

หลังกระบวนการควบรวมกิจการตามกฎหมายของ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) ได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ เป็นที่เรียบร้อยนับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) มีความคืบหน้าหลังการควบรวมฯ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความพร้อมในการย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดทัพองค์กรพร้อมก้าวสู่การเติบโตระยะยาว โดยกำหนดกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจในระยะสั้นและกลาง เน้นการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า จากการเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลผ่านเครือข่ายการบริการที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยสู่ความยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Foster a Sustainable Future’



นายสุธีชัย สันติวราคม กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) มีความคืบหน้าหลายด้านภายหลังการควบรวมฯ นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึงแม้บริษัทฯต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) แต่ถือว่าบริษัทฯ สามารถฝ่าวิกฤติ จากการผสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างทีมจากคุ้มภัยฯและโตเกียวมารีนประกันภัยฯ(เดิม) ซึ่งทั้ง 2 ทีม ต่างนำจุดแข็งมาหลอมรวมทุกหน่วยธุรกิจขององค์กร ร่วมกันวางแผนกำหนดทิศทางและกลยุทธ์หลายด้าน โดยการผสานความร่วมมือ (Synergy) 4 ด้าน คือ  1. Revenue Synergy ความร่วมมือเพื่อสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายของกลุ่มบริษัทโตเกียวมารีนผ่านเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ 2. Capital Synergy ความร่วมมือด้านการบริหารเงินทุนภายใต้โตเกียวมารีนกรุ๊ป ซึ่งได้รับการจัดอันดับด้านเสถียรภาพทางการเงินจากหลายสถาบัน อันจะส่งผลให้การบริหารงานด้านการรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. Cost Synergy ความร่วมมือด้านการบริหารต้นทุน ให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมไปถึงแผนการรวมสำนักงานไว้ด้วยกัน และ 4. Investment Synergy ความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตการลงทุนให้สามารถจัดการความเสี่ยงดีขึ้นและสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
 “จากสถานการณ์โควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวมในช่วงครึ่งปีแรก อันเป็นผลมาจากยอดการจำหน่ายรถยนต์ป้ายแดงลดลง และ ปริมาณการส่งออกที่ลดลง แต่ภายหลังจากมาตรการผ่อนปรนของภาครัฐ ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ที่ผ่านมา บริษัทฯยังสามารถดูแลและให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ตลอดจนบุคลากรที่ปฏิบัติงานตามมาตรการ Work From Home ไปด้วยความราบรื่น ทำให้เราสามารถให้คำปรึกษาและบริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน แผนการดำเนินงานหลังควบรวมฯจากส่วนธุรกิจต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก การดำเนินงานเป็นไปอย่างบูรณาการมากขึ้น ปีนี้บริษัทฯคาดว่า จะมีรายได้เบี้ยรับรวมราว 17,000 ล้านบาทนายสุธีชัย กล่าว
นายฮิโระโนะริ คิริว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แผนการควบรวมและดำเนินธุรกิจของคุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยฯ จนถึงตอนนี้ คืบหน้าไปอย่างมาก ผมได้เห็นการผสานความร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน เราต่างนำจุดแข็งมาเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ต้นเดือน พ.ย.นี้ เรามีแผนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ อาคาร อาคารเอสแอนด์เอ ชั้น 2-6 ถนนสีลม แขวงสุริยวงค์ เขตบางรัก กทม. เพื่อให้การบริหารงานมีความเป็นเอกภาพ นอกจากนั้น เรายังวางแผนรวมกิจการสาขาใน 23 จังหวัด ที่มี 2 สาขาเข้าไว้ด้วยกัน ถึงตอนนี้เราดำเนินการรวมสาขาเสร็จเรียบร้อยไปแล้วทั้งสิ้น 10 สาขา ผมเชื่อมั่นว่าแผนการรวมสำนักงานไว้ด้วยกัน จะทำให้เราสามารถดูแลและให้บริการลูกค้าและคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นเรายังเดินหน้าพัฒนาระบบออนไลน์ที่เรียกว่า “Safe Smart” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ตัวแทนและนายหน้าให้สามารถบริหารจัดการกรมธรรม์ประกันภัยของลูกค้าที่แจ้งไว้กับบริษัทฯ การจัดทัพองค์กรครั้งนี้จะเป็นการเสริมศักยภาพทางธุรกิจ มุ่งยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า อีกทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ” .

สำหรับ คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัยฯ มีการดำเนินกลยุทธ์ผ่านช่องทางการขายหลัก ประกอบไปด้วย 1.ช่องทางสาขาที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ 2.ฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจากเครือข่ายบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทยและกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง 3.ช่องทางการขายผ่านตัวแทนและโบรกเกอร์ 4.การเป็นพันธมิตรร่วมกับ ดีลเลอร์ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 5.ช่องทางอื่นๆ อาทิ B2B2C

Visitors: 11,102,504