สมาคมประกันวินาศภัยไทย นำโครงการประกันภัยข้าวนาปีก้าวล้ำไปอีกขั้นโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม วิเคราะห์ความเสียหายจากภัยธรรมชาติของแปลงเกษตรกร

โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 นี้ เป็นปีแรกที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาสำรวจความเสียหายจากภัยธรรมชาติของแปลงนา คู่ขนานไปกับการประเมินความเสียหายโดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของภาครัฐ สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ผลักดันการใช้เทคโนโลยียุค 4.0 ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคการเกษตร และการเป็น Smart Farmers  

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปีเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 10 โดยในปีนี้ระบบการประกันภัยจะครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสูงสุดถึง 44.7 ล้านไร่ จากการประมาณการพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 55 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งทางสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับโครงการที่ดำเนินการร่วมกับภาครัฐนี้เป็นอย่างมากที่จะให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีแนวโน้มความแปรปรวนในอนาคตเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในการนี้ สมาคมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ พัฒนารูปแบบโครงการให้เหมาะสมกับเกษตรกร โดยงานวิจัยที่ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยนำมาใช้จริงเป็นครั้งแรกนี้ เป็นการวิจัยที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 2 ปี ตามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย ที่สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิด ร่วมกับอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2) กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (3) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (4) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (5) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ร่วมให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นตลอดการดำเนินงานวิจัย ซึ่งการวิจัยนี้ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่บูรณาการด้านการเกษตรและการประกันภัยลงลึกถึงระดับรายแปลง ร่วมกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ที่มีอยู่แล้วทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ มาจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมในแต่ละเขตพื้นที่การเพาะปลูก (Normalized Difference Vegetation Index – NDVI) เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกถึงระดับความเสียหายต่อนาข้าวของเกษตรกรที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง และ อุทกภัย

ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท เลขาธิการสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่การสำรวจความเสียหายจะมีการดึงเอาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพมาใช้วิเคราะห์ ทั้งที่เป็นการสำรวจระยะไกล จากการแปลผลภาพถ่ายดาวเทียมจาก MODIS LANDSAT และ SENTINEL I และ II ร่วมกับภาพถ่ายความเสียหายระยะใกล้ของแปลงนาที่เกษตรกรสามารถถ่ายรูปได้เองจากโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” ที่ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้การสนับสนุน Start Up ของคนไทย คือ บริษัท อินฟิวส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ Farm Feed แพลตฟอร์มการเก็บข้อมูลทางการเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรแบบแบ่งปันที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่มีกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้พัฒนา ซึ่ง START UP รายนี้ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” เป็นการเฉพาะสำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในการรายงานความเสียหายจากโทรศัพท์มือถือ จากจุดแปลงนาที่เกิดความเสียหายไปยังระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Cloud Based System) โดย ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย สามารถติดตามความเสียหายได้แบบ real-time ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ จะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญเพื่อปรับปรุงรูปแบบการประกันภัยข้าวนาปี ที่จะทำให้มีการจ่ายสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็วต่อไปในอนาคต และต่อยอดการประกันภัยต้นทุนการผลิตในปัจจุบันไปยังการประกันภัยปริมาณผลผลิต (Area Yield Index Insurance) ซี่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ ให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรและของภาครัฐในการนำระบบการประกันภัยมาบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรไทย” 

 

“ในระยะยาว ระบบแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” นี้ จะช่วยลดปัญหา (Pain Point) และขั้นตอนการทำเกษตรกรรมยุคใหม่ ให้กับเกษตรกรไทยและต่อยอดการเป็น Smart Farmers แบบครบวงจร ที่จะพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตรให้มีความยั่งยืนต่อไป” ดร.จุฑาทอง กล่าวในท้ายที่สุด

Visitors: 11,102,033