คปภ. หารือกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) เพื่อเร่งนำระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงรับมือไวรัสโควิด-19 และรณรงค์ทำประกันภัยรถภาคบังคับ เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยให้กับสมาชิก กทบ.

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) และคณะผู้บริหาร กทบ. ณ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ อาคารจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน กว่า 13 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัย และใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัว

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้องค์กรกำกับดูแลทางการเงินมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยให้ดึงกองทุนหมู่บ้านเข้ามาเป็นพันธมิตรด้วย สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ กทบ. อยู่แล้ว จึงได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยในการประชุมมีการหารือร่วมกัน ใน 5 ประเด็น ที่สำคัญดังนี้  

ประเด็นแรก ภารกิจเร่งด่วนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19

 

สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยต่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน กว่า 13 ล้านคน ที่ต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ด้านการประกันภัยเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย และในส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ที่ประชุมได้ข้อยุติร่วมกันว่าควรที่จะเร่งรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19

 

ประเด็นที่ 2 การรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายกรณีเกิดจากรถที่ไม่จัดทำประกันภัยภาคบังคับ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อรณรงค์ให้มีการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับโดยการบูรณาการทำงานร่วมกัน

 

ประเด็นที่ 3 การนำระบบประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงตามความต้องการของชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยที่มีการดำเนินการไปแล้ว อาทิ กรมธรรม์ประกันภัยลำไย , กรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ , กรมธรรม์ประกันภัยประมง การประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิดโดยเฉพาะ เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยแก่ประชาชนที่เป็นสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านการผลิตสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมกับกองทุนหมู่บ้าน เช่น การศึกษาจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในแต่ละชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยความร่วมมือที่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วคือการจัดทำโครงการร่วมกันเพื่อให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน

 

ประเด็นที่ 5 การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัย และมีกระบวนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บริการด้านประกันภัย

 

ด้านนายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เป็นหน่วยงานประเภทองค์การมหาชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544 ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 80,000 กองทุน โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีกองทุนฯ กระจายไปตามชุมชนต่างๆ ประมาณ 900 กองทุนฯ ซึ่งแต่ละกองทุนฯ มีสมาชิกอยู่ประมาณกว่า 100 คน และขอขอบคุณที่สำนักงาน คปภ.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลด้านการประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถต้องจัดทำ แต่ยังมีสมาชิกบางคนที่ไม่ได้จัดทำตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะทำให้เดือดร้อน รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สมาชิกกองทุนมีความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า สิ่งที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการทำประกันภัย โดยขอให้สำนักงาน คปภ.ช่วยสนับสนุนข้อมูลด้านการประกันภัย เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านได้รับทราบและพิจารณาในการจัดทำประกันภัยต่อไป สำหรับประเด็นหารืออื่น ๆ นั้น สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนดังกล่าวด้วย

“การหารือครั้งนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า มี 2 ประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ มาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน โดยสำนักงาน คปภ.จะบูรณาการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนข้อมูลด้านการประกันภัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนเช่นกัน คือ การรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ได้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.)ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่จะบูรณาการร่วมกัน จะเป็นการผลักดันโครงการทั้งสองหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว โดยจะบูรณาการโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.จะช่วยส่งเสริมด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงการให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งจากการทำประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Visitors: 11,025,196