คปภ. ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันภัย รับมือ “ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)”ออก 15 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยง

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมี ศูนย์กลางการแพร่ระบาด ณ เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว และได้ออกมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 Coronavirus (2019-nCoV) 4 มาตรการ ไปแล้ว นั้น 

ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าว ยังมีการแพร่กระจายของโรคไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนและผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดประชุมหารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยได้ข้อยุติร่วมกันในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านประกันภัย ทั้งในส่วนของการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย และคนกลางประกันภัย แบบบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครบวงจร ดังนี้

มาตรการด้านการประกันชีวิต

มาตรการที่ 1 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย ในกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30เมษายน 2563 โดยขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันเดิม

มาตรการที่ 2 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตยกเว้นดอกเบี้ยกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับ ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันชีวิต ภายใน 6 เดือน 

มาตรการที่ 3 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตผ่อนผันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ หรือมีการกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 บริษัทอาจได้รับยกเว้นหรือปรับลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน 

มาตรการที่ 4 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตพิจารณาผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยในแต่ละงวด โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในกรณีผู้เอาประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัยใดๆ ก็ตาม หรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยรายงวดที่น้อยกว่า 1 ปี โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัย ในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

มาตรการที่ 5 ขอความร่วมมือบริษัทประกันชีวิตให้ผ่อนคลายการกำหนดจำนวนเงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ โดยให้มีการปรับเพิ่มเพดานขั้นสูงของจำนวนเงินกู้ยืมตามกรมธรรม์ 

มาตรการที่ 6 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลดอัตราเบี้ยประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพ ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย กรณีทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และวันเริ่มต้นคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2563

มาตรการด้านประกันวินาศภัย

มาตรการที่ 1 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองเดียวกัน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยให้ขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบระยะเวลาผ่อนผันเดิม

มาตรการที่ 2 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยผ่อนผันเงื่อนไขการชำระเบี้ยประกันภัย โดยให้ผู้เอาประกันภัยสามารถชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายงวดได้ สำหรับการประกันภัยอัคคีภัย และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่กำหนดไว้ในรายงานสถิติธุรกิจประกันวินาศภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่มีการทำสัญญา หรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยตามสัญญา ในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

มาตรการที่ 3 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยอาจเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดความคุ้มครองของการประกันภัยการเดินทางได้ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีกำหนดเดินทาง ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนการเดินทาง ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้บริษัททราบก่อนวันเริ่มต้นความคุ้มครองเดิม

มาตรการที่ 4 ออกคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถลดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยโดยตรงกับบริษัท ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย (สำหรับการประกันภัยอัคคีภัย และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่กำหนดไว้ในรายงานสถิติธุรกิจประกันวินาศภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) โดยต้องเป็นการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และวันเริ่มต้นคุ้มครองตามกรมธรรม์ฯ ต้องไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2563

มาตรการด้านคนกลางประกันภัย

มาตรการที่ 1 ออกประกาศให้ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย ตัวแทนประกันวินาศภัย ที่ได้รับผลกระทบและใบอนุญาตฯ สิ้นอายุตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 สามารถยื่นขอขยายระยะเวลาขอต่ออายุใบอนุญาตได้ไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2563

มาตรการที่ 2 ออกประกาศเพิ่มเงื่อนไขการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย ให้ปฏิบัติตนในการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

มาตรการที่ 3 ขอความร่วมมือตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย ชะลอหรืองดการเข้าสอบหรือการเข้าอบรมตามหลักสูตรขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตฯ นับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

มาตรการที่ 4 ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบในการจัดอบรมหลักสูตรการขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย ชะลอหรือเลื่อนการจัดอบรมความรู้เพื่อขอรับ หรือขอต่ออายุใบอนุญาตฯ โดยให้สิทธิ์ไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการอบรมในครั้งต่อไป

มาตรการดูแลบุคลากรด้านการประกันภัย

มาตรการภายในองค์กร ได้ดำเนินการออกประกาศสำนักงาน คปภ. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ทุกคนระมัดระวังการแพร่ระบาดและปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพ อาทิ ให้งดเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานพบการแพร่เชื้อในชุมชนภายในประเทศ (Local Transmission) โดยติดตามข่าวสารจากทางราชการ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน หรือมีคนแออัด สวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องออกไปยังที่สาธารณะ หรือเมื่อต้องติดต่อกับผู้ที่มีอาการป่วย หมั่นล้างมือให้สะอาด และไม่นำมือมาสัมผัสที่ตา จมูก และปากหากไม่จำเป็น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการไข้ ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ให้รีบไปพบแพทย์ เป็นต้น

มาตรการภายนอกองค์กร ขอความร่วมมือหน่วยงานเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัย และสมาคมตัวแทนและที่ปรึกษาการเงินเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันการแพร่ระบาดและแจ้งพนักงาน ตัวแทน-นายหน้าประกันภัยในสังกัดทุกคนให้ระมัดระวังการแพร่ระบาดและปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ที่ได้รับกระทบได้รับทราบมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัย

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการให้ภาคธุรกิจประกันภัยจัดทำ Stress test  เพื่อทดสอบปัจจัยมหภาค การเคลมจากการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพื่อเตรียมมาตรการรองรับ หากสถานการณ์มีความรุนแรง ซึ่งการทดสอบพบว่า ธุรกิจประกันภัยในภาพรวมยังคงแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาได้เป็นอย่างดี

 

สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใย และขอส่งกำลังใจไปยังพี่น้องประชาชนให้ผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  และควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย อาทิ การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ หรือการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากทำประกันภัยไว้แล้วควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นของสัญญาประกันภัย รวมทั้งตรวจสอบว่าสัญญาประกันภัยดังกล่าวยังมีความคุ้มครองอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Visitors: 11,025,208