ชาวน่าน แห่ร้อง “เลขาธิการ คปภ.”ตัวแทนประกันชีวิตโกง ไม่ส่งเงินเข้าบริษัท

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. จากส่วนกลางตรวจเยี่ยมสำนักงาน คปภ. จังหวัดน่าน โดยในช่วงเวลาที่ เลขาธิการ คปภ. เดินทางมาถึงปรากฏว่า มีชาวบ้านจำนวนเกือบ 10 ราย เดินทางมาจากตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง เพื่อมาขอความเป็นธรรมกรณีตัวแทนบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งชวนชาวบ้านให้ทำประกันแล้ว ต่อมาไม่นำเงินค่าเบี้ยประกันที่ชาวบ้านชำระส่งบริษัทต้นสังกัด ทำให้บริษัทมีหนังสือทวงถามค่าเบี้ยประกันภัยกับชาวบ้านหลายงวด ซึ่งชาวบ้านพยายามติดต่อกับตัวแทนประกันชีวิตคนดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้

เลขาธิการ คปภ. ได้พูดคุยซักถามข้อเท็จจริงอย่างละเอียด แต่เนื่องจากบริษัทประกันดังกล่าวไม่มีสาขาที่จังหวัดน่าน จึงได้ประสานติดต่อกับผู้บริหารของบริษัทประกันที่รับผิดชอบ ซักถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นและกำชับให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็วเพื่อมิให้กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยของประชาชนในพื้นที่ เป็นผลให้บริษัทดังกล่าวส่งผู้รับผิดชอบมายังพื้นที่อย่างรวดเร็ว และสามารถคลี่คลายปัญหาเรื่องนี้จนเป็นที่น่าพอใจในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดน่าน ลงพื้นที่ในตำบลงอบและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อติดตามตรวจสอบว่ายังมีชาวบ้านได้รับความเสียหายจากการกระทำของตัวแทนประกันชีวิตรายนี้อีกหรือไม่และให้รวบรวมข้อเท็จจริงโดยละเอียดเพื่อจะได้เร่งดำเนินการทางกฎหมายกับตัวแทนรายนี้ต่อไป ตลอดจนเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องประกันภัยให้กับชุมชน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย

ต่อจากนั้น เลขาธิการ คปภ. ได้รับฟังรายงานสภาพปัญหา อุปสรรค ในการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. จังหวัดน่าน พร้อมทั้งมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับผู้อำนวยการ สำนักงาน คปภ. ทั้ง 10 จังหวัด ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) โดยเน้นย้ำให้ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องด้านประกันภัยให้กับชุมชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อมิให้ชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพที่แสวงหาประโยชน์จากความไม่รู้ของชาวบ้าน โดยย้ำให้มีการลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้ด้านประกันภัยสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงสม่ำเสมอ และหากจังหวัดไหนมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ก็ควรหาตัวช่วยในการทำงานในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่เป็นอาสาสมัครประกันภัย รวมไปถึงการเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ การจัดทำคลิปวีดิโอ เสียงตามสายของชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุ ทีวี แผ่นพับ โบรชัวร์ ในการเผยแพร่องค์ความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยไปสู่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังย้ำให้ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัด ยกระดับการทำงาน ซึ่งมิใช่ทำแต่งานประจำวันไปในแต่ละวัน แต่จะต้องมีการวางแผนงาน จัดทำตารางการงานในแต่ละเดือนอย่างเป็นระบบ ประเมินผลการทำงานวิเคราะห์ข้อมูลสถิติต่างๆ เพื่อจะได้ทราบความต้องการด้านประกันภัยของประชาชน และขับเคลื่อนภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องบริหารงานอย่างมืออาชีพ ที่สำคัญจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์เนื้องานที่เป็นประโยชน์ ต่อองค์กร ภาคอุตสาหกรรม และเหนืออื่นใด “จะต้องยึดถือประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยยึดผู้บริโภคเป็นหัวใจของการให้บริการ”

Visitors: 11,025,253