STC จับมือ CP ALL ผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยมปริญญาตรีรุ่น 1 สร้างบัณฑิตคุณภาพ พร้อมเข้าสู่ระบบการทำงานจริง

เมื่อเดือนตุลาคม 2561 วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เป็น 1 ใน 7 สถาบันการศึกษาเอกชนที่ได้จับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยม ณ หอประชุมคุรุสภา โดยศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามฯ

 

โครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยม มีเป้าหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมาร่วมกับภาคการศึกษาจัดการศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ และพัฒนาความรู้ให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน เมื่อจบการศึกษาสามารถเข้าทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องไปฝึกงานใหม่

โดยสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเปิดรับนักเรียน/นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีรุ่นแรกปีการศึกษา 2562 ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ การจัดการนวัตกรรมการค้า, การจัดการธุรกิจค้าปลีก, เทคโนโลยีไฟฟ้า และด้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้การจะเปิดสาขาวิชาใดขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถาบันการศึกษา

ทางซีพี ออลล์ ได้กำหนดเป้าหมายการรับนักเรียน/นักศึกษาภาพรวมของโครงการฯ ไว้ที่ 5,100 คน อนาคตมีแผนจะเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษาให้มากขึ้นและเพิ่มจำนวนการรับนักเรียน/นักศึกษาให้ถึง 10,000 คน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมาจาก 2 กลุ่ม คือ นักศึกษาทั่วไปทางซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา 70% ให้แก่นักศึกษา และนักศึกษาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งมีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ทางซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา 100% ให้แก่นักศึกษา

เมื่อจบการศึกษาทางซีพี ออลล์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าทำงานกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยรับประกันการมีงานทำ 100% และระหว่างศึกษาตลอดหลักสูตรจะได้รับเบี้ยเลี้ยง/สวัสดิการระหว่างฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ ในส่วนของการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ ทางบริษัทได้เปิดกว้างโอกาสทางการศึกษาโดยให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบันการศึกษาเป็นสำคัญ

สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามหลังจากเปิดรับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ความสำเร็จนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะบริหารธุรกิจและฝ่ายการตลาดที่ต้องการพัฒนาเด็กไทยให้มีความพร้อมทั้งด้านการศึกษาและจบแล้วมีงานทำทันที หลังจากได้ลงนามความร่วมมือวิทยาลัยฯ ได้จัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับนักศึกษารุ่นแรกของโครงการฯ ในสาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาการจัดการนวัตกรรมการค้า โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งคณาจารย์ของวิทยาลัยฯ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การบริหาร การจัดการ และเทคโนโลยี สามารถส่งเสริมให้นักศึกษาในโครงการฯ นี้ได้รับความรู้ตามหลักสูตรของวิทยาลัย และมีทักษะวิชาชีพตามที่ซีพี ออลล์ กำหนดได้เป็นอย่างดี

โดยวิทยาลัยมีเป้าหมายรับนักศึกษาเข้าศึกษาในโครงการฯ รุ่นแรก จำนวน 240 ทุนมีทำสัญญารับการสนับสนุนทุนการศึกษาครั้งที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2562 มีนักศึกษาเข้ารับทุนจำนวน 100 ทุน เป็นทุนการศึกษา 70% ตลอดหลักสูตร ในวันทำสัญญาวิทยาลัยฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.กิตติ รัตนราษี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับทุนการศึกษาของโครงการฯ และเส้นทางอาชีพหลังจากจบการศึกษาเมื่อทำงานกับซีพี ออลล์ โดยมี รศ.ดร.จุไรรัตน์ ดวงเดือน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้การต้อนรับผู้ปกครอง นักศึกษา และทีมงานจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และมีผศ.ดร.โอภาส กิจกำแหง คณบดีคณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) และคณาจารย์คณะบริหารธุรกิจดูแลนักศึกษาและอำนวยความสะดวกในการทำสัญญารับการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างใกล้ชิด

สำหรับการทำสัญญารับการสนับสนุนทุนการศึกษา ครั้งที่ 2 คือวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2562 มีนักศึกษาเข้ารับทุนอีก 50 ทุนเป็นนักเรียนจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 กาญจนบุรี และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 33 ลพบุรี ทางซีพี ออลล์ ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาดังกล่าว 100% ตลอดหลักสูตร โดยวิทยาลัยฯ ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของหอพัก อุปกรณ์การเรียน เครื่องแต่งกาย ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่นักศึกษาจากโรงเรียนราชประชา       นุเคราะห์ที่มีฐานะยากจนดังกล่าว

         รศ.ดร.จุไรรัตน์ ดวงเดือน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวต้อนรับนักศึกษาในโครงการบัณฑิตพรีเมี่ยมว่า “วันนี้เราเข้ามาในรั้ววิทยาลัยฯ เราได้เปลี่ยนชีวิตจากการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. และปวส.  มาเป็นอุดมศึกษา เปลี่ยนวิธีการเรียนจากนักเรียนเป็นนักศึกษา อาจารย์แม่ยืนยันว่าเราเข้ามาในรั้ววิทยาลัยฯ แล้วเราจะได้รับการดูแลจากครูอาจารย์เป็นอย่างดี อาจารย์ของเราเป็นมือหนึ่งด้านการตลาด นักศึกษาจะได้รับความรู้อย่างเต็มที่ และยังได้ค่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างศึกษาด้วย อนาคตก็มีโอกาสได้เป็นเจ้าของกิจการด้วย”

ด้านการเตรียมความพร้อมจัดการศึกษาให้กับนักศึกษาในโครงการฯ ทางวิทยาลัยฯ ได้ส่งตัวแทนผู้บริหารและอาจารย์เข้าอบรมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1 ในหลักสูตร Harmony-Premium เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2562 เพื่อเปิดบ้านต้อนรับคณาจารย์เครือข่ายบัณฑิตพรีเมี่ยม ครั้งที่ 2 ในหลักสูตร CP All Business Learning เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเชื่อมโยงไปสู่การจัดการศึกษาแบบ Work Based Learning

นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ได้ส่งอาจารย์ทิพย์สุดา หมื่นหาญ ผู้ช่วยคณบดีคณะบริหารธุรกิจและรักษาการหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ และอาจารย์ภาคิน พันธ์ขาว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ เข้าร่วมอบรมและลงพื้นที่เรียนรู้การทำงานในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) อีก 3 วัน ความรู้ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้แก่ รู้จักระบบการจัดสต็อกสินค้า การจัดเรียงสินค้า การให้บริการลูกค้า ฯลฯ ทำให้ทราบว่าบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีระบบติดตามงานที่ร้านสาขาตลอดเวลา เพื่อให้คุณภาพการบริหารงานร้านมีมาตรฐาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และทุกเดือนจะมี Check List และ Audit จากส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบร้าน

ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าอบรม อาจารย์ทั้ง 2 ท่านพร้อมนำมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาในโครงการฯ และทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยังมีหลักสูตรฝึกอบรมให้กับคณาจารย์ในโครงการบัณฑิตพรีเมี่ยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางวิทยาลัยฯ มีความพร้อมที่จะส่งคณาจารย์เข้ารับการอบรมเพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในการเรียนการสอนและดูแลนักศึกษาในโครงการฯ เพื่อให้จบออกมาเป็นบัณฑิตพรีเมี่ยมที่ตรงกับความต้องการของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ต่อไป

 

 

Visitors: 11,102,343