คปภ. เปิดเวที CEO Insurance Forum 2019 ระดมสมองหัวเรือใหญ่อุตสาหกรรมประกันภัย! ร่วมสร้างมาตรการเชิงรุก ยกระดับประกันสุขภาพของไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน…

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัยได้มีการจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งปีนี้จัดในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมคริสตัล ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อันแสดงถึงศักยภาพและความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ได้กำหนด Theme ของการประชุมคือ “ยกระดับประกันสุขภาพสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และมีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มย่อยที่ 1 หัวข้อ ยกระดับการกำกับประกันสุขภาพสู่อนาคตที่ยั่งยืน และกลุ่มที่ 2 หัวข้อ “กรอบแนวทางการดำเนินการในการป้องปรามการฉ้อฉลในการประกันภัยสุขภาพ”

ในช่วงเปิดงาน เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทิศทางและนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัย ประจำปี 2562โดยได้ฉายภาพทิศทางนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในปี 2562 ที่กำหนดให้เป็นปีแห่ง “การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง” ควบคู่กับ “การกำกับและตรวจสอบอย่างสมดุลโดยไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ” ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันภัย โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ผ่านแนวคิด 7 ส. ประกอบด้วย 

ส. แรก คือส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย อาทิ ขยายขอบเขต Insurance Regulatory Sandbox พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud Database) พัฒนา Application Me Claim” และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย (Insured Right Protection Management System)

ส. สอง คือส่งเสริมการลงทุนและขยายธุรกิจในต่างประเทศ เช่น ปรับปรุงประกาศลงทุนเพื่อสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจประกันภัยไทย จัดทำแผนงาน ASEAN Micro Insurance Product เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐานในภูมิภาคอาเซียนภายใต้เงื่อนไขและเบี้ยประกันภัยเดียวกัน และผลักดันประเทศไทยให้เป็น Reinsurance Hub เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยต่อในภูมิภาคอาเซียน 

ส. สาม คือส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีเสถียรภาพ ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (I-SERFF) ปรับปรุงกระบวนการเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยให้รวดเร็วยิ่งขึ้นสร้างแบบจำลองการประเมินความเสี่ยงด้านมหันตภัยต่อธุรกิจ       ประกันวินาศภัย (Flood Model) ออกแนวปฏิบัติการกำกับตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต และจัดระบบเข้าตรวจสอบแบบ Proactive ซึ่งประกอบด้วยแนวทาง “ติดตาม เท่าทัน ป้องกันและรับมือ”

ส. สี่ คือส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจประกันภัยพร้อมรับกติกาสากล ด้วยการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRF) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อแนะนำจากการประเมิน FSAP เช่น ขยายกรอบการกำกับดูแลเรื่องแนวปฏิบัติทางธุรกิจของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัย (Conduct of Business)

ส. ห้า คือส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ประกันภัยประมง และกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย เช่น         การประกันภัยเคหะไมโคร

ส. หก คือส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย โดยเริ่มจากการผลักดันกระบวนการออกกฎหมาย ได้แก่   ร่างกฎหมายแม่บทกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัทประกันภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ศึกษาแนวทางพัฒนากฎหมายสำหรับการประกันภัยทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง     ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตลอดจนศึกษาแนวทางการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสุขภาพเพื่อยกระดับการ  ประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Regulatory Guillotine เพื่อทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายประกันภัยที่ใช้ในการกำกับดูแล โดยทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลทั้งหมด 361 ฉบับ และดำเนินโครงการศึกษา Regulatory Impact Assessment เพื่อวิเคราะห์ต้นทุน อุปสรรคและประสิทธิภาพของกฎระเบียบในปัจจุบันเพื่อปรับแนวคิดในการกำกับดูแลและเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้จะมีการศึกษาสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 10 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทในการกำหนดแนวทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยที่ตอบโจทย์ ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง Technology Disruption และ Aging Society รวมทั้ง กติกาตามมาตรฐานสากล เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัยไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล รวมทั้งศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติอีกด้วย

ส. สุดท้าย คือสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเป็นอย่างมากเพื่อยกระดับการประกันสุขภาพของไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยกำหนดเป็น 5 มิติ กล่าวคือ มิติที่หนึ่ง ปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพให้สอดคล้องกับวิทยาการทางการแพทย์ มีรายการความคุ้มครองที่ปรับเปลี่ยนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มิติที่สอง

พัฒนาปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น สะท้อนตามต้นทุนของประเภทความคุ้มครอง พร้อมเปิดเผยข้อมูลของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพแก่ประชาชน มิติที่สาม กำหนดให้ภาคธุรกิจมีรูปแบบการเก็บข้อมูลสถิติที่สอดคล้องกับรายการความคุ้มครองที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีสถิติในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันสุขภาพอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน มิติที่สี่ จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสัญญาประกันสุขภาพที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อลดปัญหาเรื่องร้องเรียนและการชดใช้ค่าสินไหมที่เกิดจากการรับประกันสุขภาพ มิติที่ห้า ศึกษาแนวทางการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวกับแนวทางการประกันสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทางป้องปราบไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการฉ้อฉล รวมถึงกำหนดแนวทางในการดำเนินการหากมีกระทำที่เป็นการฉ้อฉลในการประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากต่างประเทศคือ Mr. Tony Chan ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและการพัฒนาของหน่วยงานกำกับดูแลประกันภัยของฮ่องกง (Insurance Authority หรือ IA) บรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในอนาคตซึ่งได้ถ่ายทอดความเป็นมาของการก่อตั้ง IA ภาพรวมตลาดประกันภัยของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง การเข้ามาของ InsurTech การพัฒนาแนวทางการกำกับพฤติกรรมทางตลาดของธุรกิจประกันภัยในฮ่องกง ตลอดจนกรอบการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยระหว่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับการประชุมกลุ่มย่อยทั้งสองกลุ่ม มีสาระสำคัญ ดังนี้

กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ ยกระดับการกำกับประกันสุขภาพสู่อนาคตที่ยั่งยืน เป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญในการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ  ให้มีแบบและข้อความที่สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ มีรายการความคุ้มครองที่ปรับเปลี่ยนตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข หรือนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้มีมติให้เพิ่มสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม รวมทั้งรองรับแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงตารางแสดงผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีลักษณะคล้ายของเดิม แต่มีการแยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน สามารถอ้างอิงกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ การปรับปรุงคำนิยาม เงื่อนไข ข้อยกเว้น ของสัญญาประกันสุขภาพให้เข้าใจง่าย เหมาะสมกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับการปรับคำนิยามที่กำหนดโดยแพทยสภา พ.ร.บ. สถานพยาบาล ประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลสถิติการประกันสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับรายการความคุ้มครองที่ปรับปรุงใหม่ ส่งผลให้จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่สอดคล้องตามต้นทุน และการศึกษาแนวทางการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ เพื่อรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดให้ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยขายประกันสุขภาพเป็นกรมธรรม์ได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์หรือส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเรื่องสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

กลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “กรอบแนวทางการดำเนินการในการป้องปรามการฉ้อฉลในการประกันภัยสุขภาพ” ได้มีการหารือเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันสุขภาพ กำหนดแนวทางในการดำเนินการเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการฉ้อฉลประกันสุขภาพ รวมถึงแนวทางในการดำเนินการหากมีการกระทำที่เป็นการฉ้อฉลประกันสุขภาพเกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดบทบาทของสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัย ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันภัย เมื่อพบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันสุขภาพ การจัดให้มีศูนย์กลางข้อมูลการฉ้อฉลประกันสุขภาพ (Fraud Database) รวมถึงการกำหนดขอบเขตในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการกำหนดแนวทางในการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมและยกระดับการประกันสุขภาพสู่อนาคตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการศึกษากฎหมายประกันสุขภาพในต่างประเทศเพื่อจัดทำกฎหมายประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป

 

การประชุม CEO Insurance Forum 2019 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้ 2 หัวข้อหลัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีความท้าทายและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย รวมถึงประชาชนเป็นอย่างมาก โดยทุกความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะจะนำไปปรับปรุงการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ในการกำกับดูแลด้านการประกันสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัยต่อไปเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Visitors: 11,025,137