DITP แนะผู้ส่งออกรถยนต์ ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุงรถยนต์บุกตลาดเวียดนาม

 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เผยจากสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วงมกราคม กันยายน 2018 เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี โดยไทยและอินโดนีเซียเป็นแหล่งนำเข้ารถยนต์หลักของเวียดนามด้วยนำเข้ารถยนต์ 10,800 คัน หรือร้อยละ 92 ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดของเวียดนาม แนะผู้ส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ ส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุงรถยนต์บุกตลาดเวียดนาม มั่นใจทำเงินได้มากแน่

นางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เปิดเผยว่ากรมศุลกากรเวียดนามประกาศว่า ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ เป็นเครื่องยนต์ คัสซี (chassis) และเทคโนโลยีพิเศษที่ไม่สามารถผลิตในเวียดนามได้ เว้นแต่ผู้ผลิตลงทุน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ในเวียดนาม โดยบริษัท Toyota, Ford และ Nissan นำเข้าสายไฟฟ้าและเหล็กจากไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เพื่อผลิตรถยนต์ในเวียดนาม

ในช่วงมกราคม กันยายน 2018 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 11,172 คัน เพิ่มขึ้น 5,142 คัน หรือร้อยละ 85.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2017 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ไม่เกิน 9 ที่นั่งส่วนใหญ่จากอาเซียน (ร้อยละ 93.5 ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด) ซึ่งมากกว่าร้อยละ 51 นำเข้าผ่านท่าเรือในนครโฮจิมินห์ และได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าตามความตกลงการค้าเสรีของอาเซียน (ATIGA)

คาดว่า ในช่วงสิ้นปี 2018 รถยนต์ที่จะเข้ามาในตลาดเวียดนามมากขึ้น ได้แก่ รุ่น Xpander ของบริษัท Mitsubishi รุ่น BT 50 ของบริษัท Mazda รุ่น Everest ของบริษัท Ford รุ่น Wigo ของบริษัท Toyota และรุ่น HR-V ของบริษัท Honda นอกจากนี้ ในช่วงมกราคม กันยายน 2018 ผู้ประกอบการเวียดนามยังนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์อันดับ 1 ของเวียดนาม คือ 591 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 560 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน 465 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสุภาพร กล่าวว่า ในปัจจุบันความต้องการรถยนต์ในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประชากร ในเวียดนามมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้บริโภคในเวียดนามส่วนใหญ่มั่นใจ ในคุณภาพของรถยนต์ที่ผลิตในไทย จึงเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ ส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุงรถยนต์ที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาหาช่องทางโอกาสในการลงทุน เพื่อขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวในเวียดนาม โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่มีมากและราคาถูกกว่าไทย รวมถึง FTA ต่าง ๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกด้วย

 

 

นอกจากนี้อู่ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อาจพิจารณาเปิดธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ในเวียดนาม  ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือ โทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

 

 

Visitors: 11,025,004