IOD ปรับโฉมรางวัล Board of the Year เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมเพิ่มประเภทรางวัล

นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยว่าทาง IOD ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณารางวัล Board of the Year เพื่อให้สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่ครอบคลุมทั้งในแง่ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี การสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และ การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มการแบ่งประเภทรางวัลตามขนาดธุรกิจ รางวัลพิเศษสำหรับกรรมการที่มีวิสัยทัศน์ และเพิ่มรางวัลใหม่สำหรับคณะกรรมการของบริษัทที่มีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างโดดเด่นด้วย

            Board of the Year เป็นรางวัลอันทรงเกียรติเพียงรางวัลเดียวในตลาดทุนที่มอบให้กับคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทย ตั้งแต่ปี 2545 IOD ได้มอบรางวัล Board of the Year ไปแล้ว 7 ครั้ง และในรอบล่าสุดนี้จะมีการประกาศผลรางวัลในเดือน มิถุนายน 2562 ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของรางวัลนี้ คือการสัมภาษณ์คณะกรรมการบริษัท ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับปรุงกระบวนการพิจารณารางวัลให้เข้มขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น  โดยนอกจากจะพิจารณาผลการกำกับดูแลกิจการจาก CGR แล้ว ยังเพิ่มการพิจารณาเรื่องการดูแลผู้มีส่วนได้เสียประกอบด้วย

 

            นายประสัณห์กล่าวว่า “การพิจารณารางวัล Board of the Year รอบนี้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมมิติทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ในการพิจารณา นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ IOD เองแล้ว ยังมีการดึงผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็น หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ลงทุนสถาบัน และบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณารางวัลด้วย เพราะฉะนั้น บริษัทที่ได้รางวัล Board of the Year ในรอบนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจาก IOD เท่านั้น แต่ยังถือได้ว่าได้รับการยอมรับจากประชาคมในตลาดทุนด้วย”  

ในการพิจารณารางวัล Board of the Year ปีนี้ ได้เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ในตลาดทุน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสถาบันภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกลุ่มสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโสของ IOD กรรมการอาชีพในทำเนียบ IOD และสมาชิกในชมรมกรรมการอิสระ มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อคณะกรรมการที่สมควรผ่านเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์ นอกจากนี้ ได้มีการเชิญบริษัทที่ปรึกษาชั้นแนวหน้า ได้แก่ Bain & Company, Baker & McKenzie, Grant Thornton, Heidrick & Struggles, PwC (Thailand) ให้เข้ามาร่วมกำหนดเกณฑ์พิจารณารางวัล และมีการตรวจสอบความโปร่งใสในการพิจารณาให้รางวัลโดย EY อีกด้วย

            เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับคณะกรรมการของบริษัทที่มีขนาดกลาง และเล็กที่มีผลการปฏิบัติหน้าที่โดดเด่นได้รับการชื่นชมผ่านรางวัล Board of the Year มากขึ้น การพิจารณารางวัลรอบนี้ IOD จึงจัดให้มีการแบ่งประเภทรางวัลตามขนาดธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก รวมถึงกำหนดให้มีรางวัลใหม่คือ Visionary Board Award สำหรับคณะกรรมการที่มีวิสัยทัศน์ ในการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลให้ธุรกิจสามารถปรับตัวภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยจะเปิดให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำเสนอชื่อบริษัทของตนเองหรือบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ เข้าร่วมการพิจารณาได้ด้วย นอกจากนี้ ยังเพิ่มรางวัล Rising Star สำหรับคณะกรรมการบริษัทที่มีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการอย่างโดดเด่นด้วย

“คณะกรรมการบริษัทถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อความสำเร็จของบริษัทจดทะเบียน การมอบรางวัล Board of the Year เป็นเสมือนการสร้างพื้นที่ให้กับคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมให้คณะกรรมการของบริษัทต่างๆ พัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากขึ้น อันจะส่งผลดีกลับไปที่บริษัท ผู้มีส่วนได้เสีย และภาพรวมของตลาดทุนไทยในที่สุด” นายประสัณห์ กล่าว

 

            IOD คาดว่าจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการคัดคุณสมบัติเบื้องต้นได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และจะสามารถประกาศรายชื่อบริษัทที่คณะกรรมการผ่านการเสนอชื่อจากผู้ลงทุนสถาบัน และสมาชิก IOD ได้ภายในกลางเดือนมกราคม 2562 ต่อจากนั้น จึงเป็นการประเมินเชิงลึก ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์คณะกรรมการ โดยมีกำหนดจะประกาศผลและมอบรางวัล Board of the Year ในเดือนมิถุนายน 2562

Visitors: 11,102,312