รัฐ-เอกชน-ประชาสังคม ร่วมหาทางออกปัญหาขยะไทย ในงาน SD Symposium 2018

ดังนั้น เพื่อเป็นการหาทางออกให้กับการจัดการปัญหาขยะของประเทศ ในงาน “SD Symposium 2018 (Sustainable Development Symposium 2018)” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy: The future we create” เอสซีจีจึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ Circular Waste Value Chain โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องร่วมพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ “ธนา ยันตรโกวิท” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย, “สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง” รองปลัดกรุงเทพมหานคร, “สินชัย เทียนศิริ” ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, “ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ” Vice President - Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ “เพชร มโนปวิตร” องค์กรสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)

ชู 3Rs ต้นทางการจัดการขยะ สร้างพฤติกรรมใหม่ให้ประชาชน

            “ธนา” กล่าวว่า แม้จะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะหลายฉบับ และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ได้มีใครเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการเก็บขยะ ดังนั้น สถ. จึงเป็นหน่วยงานหลัก เนื่องจากมีองค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท.) อยู่กว่า 7,851 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพแตกต่างกันไป แต่กว่าร้อยละ 70 ของ อปท. มีรายได้น้อยและไม่ได้รับเงินอุดหนุนที่เพียงพอ

                “จากการสำรวจพบว่า อปท. กว่า 3,000 แห่ง ไม่มีรถเก็บขยะและมีสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องอีกกว่า 2,810 กอง ซึ่งหลังจากรัฐบาลประกาศปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ จึงมีการวางแผนจัดการขยะแบบองค์รวม ทั้งขยะเก่าที่มีอยู่หรือขยะใหม่ที่จะเกิดขึ้น และการใช้มาตรการทางกฎหมายให้ครอบคลุม รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน”

                “ปัญหาขยะที่เกิดขึ้น วงจรสำคัญคือต้นทางที่เป็นผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา สถ. ได้รณรงค์ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ ใช้ใหม่” ที่แปลงมาจาก 3Rs โดยให้ อปท. และชุมชน เชื่อมโยงชาวบ้านให้เกิดการคัดแยกขยะ และมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งตลาดนัดขยะและผ้าป่าขยะ ทำให้เกิดกลไกการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อการรีไซเคิล อีกทั้ง สถ. ยังจัดทำโครงการ From Bin to Bag” หรือการเปลี่ยนจากถังขยะมาเป็นถุงขยะ เพื่อให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ตลอดจนโครงการ “Fast track to zero waste” เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ ด้วยการคัดแยกและกำหนดวันจัดเก็บขยะ”

                “อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและมีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปัญหาปลายทางที่เป็นการกำจัดขยะหมดไป ทั้งยังจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ได้อีกทางด้วย”

            ด้าน “สุวรรณา” กล่าวเสริมว่า การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะการจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบอีกครั้งนั้น แนวทาง 3Rs ถือว่าสำคัญ เนื่องจากเป็นการรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ รวมถึงการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้น้อยที่สุดและทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องเลือกใช้สินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้

             “การจัดการขยะของ กทม. เน้นดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการลดการฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุดและให้เป็นแนวทางสุดท้าย เนื่องจากเราพยายามลดขยะที่ต้นกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษอาหารและพืชผักผลไม้ไปทำปุ๋ย การส่งเสริมการคัดแยกขยะด้วยหลัก 3Rs ให้ครอบคลุม และการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดปริมาณขยะไปได้อย่างมาก”

                “แม้ว่าการจัดการขยะของ กทม. จะมีหลายชุมชนประสบความสำเร็จ แต่โมเดลเหล่านั้นกลับไม่ได้ขยายออกไปเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน  ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันส่งเสริมให้คนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ที่สำคัญภาครัฐต้องมีแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจน ตลอดจนการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเชื่อมโยงให้การจัดการขยะเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่ง กทม. จะร่วมทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบการจัดการขยะที่ต่อเนื่องระดับชาติต่อไป”

สร้างศูนย์กลางรับซื้อบรรจุภัณฑ์เก่าและใช้นวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

            ขณะที่ “สินชัย” มองว่า การจัดการบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ แก้ว พลาสติก หรือโลหะ ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง และส่งต่อให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานของ TIPMSE เป็นความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้แยกขยะ/รับซื้อของเก่า และโรงงาน   รีไซเคิล ในการสนับสนุน สร้างความรู้ความเข้าใจ และเชื่อมโยงให้เกิดวงจร CLP (Closed Loop Packaging) เพื่อให้การกำจัดขยะไม่ได้เป็นเพียงการทำลาย แต่เป็นการจัดการปัญหาที่ได้ผลตอบแทน

                “การจะทำให้ CLP เกิดขึ้นจริงนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนด้วยโมเดลทางธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) ที่ให้ผู้สูงอายุเข้ามาร่วมดำเนินงาน โดยต้องมีศูนย์กลางรับบรรจุภัณฑ์หรือของที่ไม่ใช้แล้ว และต้องมีการเก็บข้อมูลปริมาณขยะทุกประเภทก่อน เพื่อหาความคุ้มทุนและแนวทางการขนส่ง จากนั้นควรหาพันธมิตรมาร่วมดำเนินการ โดยเฉพาะภาคเอกชนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เริ่มทดลองในลพบุรีและนนทบุรีไปแล้ว”

                “วิธีการนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือต้องมีพันธมิตรหลายภาคส่วนมาร่วมกัน โดยเปลี่ยนความคิดจาก ภาระ ให้เป็น ภารกิจ สร้างความตระหนักให้ประชาชน ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปพร้อมกัน”

                สอดคล้องกับ “ศักดิ์ชัย” ที่มองว่า เศษบรรจุภัณฑ์หรือพลาสติกมีคุณค่าทางเศษฐกิจอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีการคัดแยกอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดการปนเปื้อนในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น โมเดลศูนย์กลางการรับซื้อขยะแบบซาเล้งจึงควรเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ได้

          “พลาสติกอยู่ในบรรจุภัณฑ์เกือบทุกส่วนและยังจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคน แต่เราควรลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา  เอสซีจีในฐานะผู้ผลิตก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้พยายามคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหลายหน่วยงานในการนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด”

            “ไม่เพียงเท่านี้ ในการผลิตสินค้าพลาสติกของเอสซีจี ยังได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความแข็งแรงทนทาน มีความบางแต่เหนียว สามารถทดแทนวัสดุธรรมชาติ ทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดปัญหาขยะจากต้นกำเนิด แต่สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย”

แนะใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์รวมต้นทุนค่าจัดการสิ่งแวดล้อม

            ขณะที่ “เพชร” กล่าวว่า แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับการจัดการปัญหาขยะ  แต่จะทำอย่างไรให้ขยะลดลง เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีขยะพลาสติกกว่า 8,000 ล้านตัน แต่สามารถนำมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ได้ไม่ถึง 10% ทำให้มีตกค้างในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก โดยเฉพาะในท้องทะเล จากการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ เน้นเทกองจนไหลลงทะเล ทำให้สัตว์ทะเลกว่า 700 ชนิดและปะการังได้รับผลกระทบ   

“ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันร่างกายมนุษย์มีไมโครพลาสติก (Micro Plastic) ที่เกิดจากการแตกตัวของพลาสติกในเสื้อผ้า ใยสังเคราะห์ ยางรถยนต์ หรือพลาสติกอื่นๆ ทำให้ปนเปื้อนในน้ำประปา รวมถึงเกลือสมุทร เบียร์ และน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปัญหาพลาสติกเป็นวาระของโลก เนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”

                “ดังนั้น การใช้พลาสติกโดยเฉพาะการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจึงต้องมีการลดหรือเลิกใช้ ซึ่งจะต้องมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาจัดการ และภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตต้องมีส่วนรับผิดชอบ และประชาชนทุกคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งอาจจะนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วย โดยเฉพาะการรวมต้นทุนการจัดการสิ่งแวดล้อมไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการลดละตั้งแต่ต้นทาง และจะเป็นโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมได้คิดค้นนวัตกรรมและออกแบบวัสดุใหม่ๆ ในอีกทางหนึ่งด้วย”

           การจัดการขยะจึงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะการจัดการที่ต้นทางและสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีจิตสาธารณะร่วมกันในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ได้ต่อไป 

Visitors: 11,102,496